Tuesday, March 16, 2010

ปรับปรุงดินสร้างห่วงโซ่ในบ่อกุ้ง ลดต้นทุนผลผลิตและรายได้เพิ่ม

ปรับปรุงดินสร้างห่วงโซ่ในบ่อกุ้ง
ลดต้นทุนผลผลิตและรายได้เพิ่ม





คมชัดลึก :จากที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอันนำมาซึ่งความล้มเหลวนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสภาพของดินในบ่อเลี้ยง หลายแห่งเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้กุ้งตายภายใน 45 วัน ผลคือเกษตรกรขาดทุน บางรายถึงกับต้องเลิกอาชีพเลี้ยงกุ้งไปในที่สุด ทำให้บ่อเลี้ยงจำนวนมากถูกทิ้งร้าง







  ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว สำนักความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (จีทีแซด) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) วิจัยกระบวนการปรับปรุงดินเพื่อสร้างห่วงโซ่อาหารให้แก่ลูกกุ้งและสิ่งแวดล้อมในบ่อเลี้ยงให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของกุ้ง โดยดำรงฟาร์ม จ.สงขลา เป็นฟาร์มนำร่องที่ประสบผลสำเร็จอย่างดี   ดร.สุริยา สาสนรักกิจ ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. และจีทีแซด จึงให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยง เห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงดินเพื่อสร้างห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะทำให้กุ้งแข็งแรง ต้านทานโรคสูง เพราะได้อาหารธรรมชาติจากเลนในนากุ้ง และยังเป็นแหล่งออกซิเจนให้ลูกกุ้งที่มีอายุ 45-55 วัน
 "ระยะนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหารกุ้งได้ถึง 20 วัน-1 เดือน ไม่ต้องเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน จึงช่วยลดต้นทุน ทั้งค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายกำจัดเลนในบ่อ และเมื่อดินอุดมสมบูรณ์เกษตรกรก็ไม่ต้องไปหาพื้นที่ใหม่ๆ เลี้ยง กล่าวคือ การปรับปรุงดินนี้จุดเด่นคือ ช่วยลดต้นทุน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งได้ยั่งยืน” ดร.สุริยาแจง
 ด้าน ดำรง กาญจนเมธากุล เจ้าของดำรงฟาร์ม อ.เทพา จ.สงขลา ผู้มีประสบการณ์ทำฟาร์มกุ้งมากว่า 20 ปี ปัจจุบันเลี้ยง 40 บ่อ ในพื้นที่ 200 ไร่ บอกว่าเริ่มใช้วิธีการปรับปรุงดินนี้มาตั้งแต่ปี 2549
 "ปุ๋ยตามสูตรของ วว.ที่ผมใช้ทำเองได้ง่าย โดยใช้ขี้วัว ปุ๋ยเคมี เนื้อปลาสดมาต้มกับรำข้าว ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ โดยที่ฟาร์มหลังจากใช้วิธีนี้สามารถลดต้นทุนที่เกิดจากค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าคนงาน ได้เดือนละ 7-8 พันบาทต่อไร่ต่อเดือน การเลี้ยงกุ้งก็นิ่งมากขึ้น เพราะไม่ค่อยมีโรค อัตราการรอดโดยเฉลี่ยเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 80 ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และก็มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย" ดำรง กล่าว
 พร้อมเสริมถึงการสร้างห่วงโซ่อาหารในบ่อกุ้งว่าขั้นตอนไม่ยาก เริ่มจากหลังจับกุ้งแล้วให้ตากพื้นบ่อ 3-5 วัน จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อโดยผ่านถุงกรองละเอียด 2 ชั้น ให้มีระดับน้ำสูง 20-30 เซนติเมตร และให้มีความเค็มอยู่ในช่วง 10-15 ppt. ก่อนกำจัดพาหะโดยใช้กากชาอัตราส่วน 33 กก.ต่อไร่ (กรณีไม่มีหอย) และ 80 กก.ต่อไร่ (กรณีมีหอย) จากนั้นคราดดินเพื่อกระจายกองเลนให้ทั่วบ่อ ขังน้ำทิ้งไว้ 20 วัน เพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์และเกิดห่วงโซ่อาหาร ก่อนปิดท้ายด้วยปล่อยกุ้งในอัตรา 3-3.5 หมื่นตัวต่อไร่ สำหรับกุ้งกุลาดำ และ 8 หมื่น-1 แสนตัวต่อไร่ สำหรับกุ้งขาวแวนนาไม
 สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจเทคนิคการเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีที่กล่าวมา สอบถามได้ที่สถาบันวิจัย (วว.) 35 หมู่ 3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 หรือ 0-2577-9004 วันเวลาราชการ
 








ข่าวที่เกี่ยวข้องสุนัขแสนรู้ปอกเปลือกมะพร้าวกระเทาะกินน้ำเองไทยเล็งถกเกาหลีใต้แก้ส่งออกกุ้งผู้ประกอบการโอดคุมเข้มต้นทุนพุ่งคุมเข้มแผนจัดสรรน้ำ "แก่งกระจาน"

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive