Monday, May 31, 2010

รอบรั้วเกษตร (อังคารที่ 1 มิ.ย.53)

รอบรั้วเกษตร (อังคารที่ 1 มิ.ย.53)



คมชัดลึก :






จี้ผู้ว่าฯเร่งหาสาเหตุกุ้งตายยกบ่อ  สงขลา - นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จ.สงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งหนังสือผ่านไปยังนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าฯ สงขลา ให้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบหาสาเหตุกุ้งในพื้นที่ ต.จะโหนง อ.จะนะ ตายยกบ่อและเสียหายแล้วกว่า 3 ล้านบาท รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองนาทับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นต้นเหตุให้กุ้งตายจากภาวะน้ำเสีย ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบางส่วนได้ลงทุนปรับสภาพบ่อเลี้ยงกุ้งรวมทั้งอาหารและอุปกรณ์การเลี้ยงกุ้งไว้พร้อมแล้วเพื่อเตรียมเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ แต่เมื่อเจอปัญหากุ้งตายและยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุจึงไม่กล้าปล่อยลูกกุ้งเพราะเกรงว่าอาจจะตายยกบ่อซึ่งเสี่ยงต่อภาวะขาดทุน จึงจำเป็นต้องยืดเวลาออกไป  
นำร่องทำนาขั้นบันไดให้ชาวม้ง  พิษณุโลก - นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมพื้นที่บริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำภาคฝั่งขวา บ้านน้ำจวง หมู่ 13 ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เพื่อทำนาขั้นบันไดซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรให้แก่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้อพยพมาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นเวลานาน จนปัจจุบันมีประชากรภายในหมู่บ้านกว่า 2,000 คน ยังผลให้พื้นที่ทำการเกษตรซึ่งมีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อการทำกิน โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาข้าว จึงได้มอบหมายให้หลายหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน พร้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำรงชีวิต อยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป 
ประมงกระบี่ลงพื้นที่สอบฟาร์มหอย   กระบี่ - นายเสรี เพชรรักษ์ ประมงอำเภอเมืองกระบี่ กล่าวถึงการตรวจสอบฟาร์มหอยของเกษตรกร หลังรับแจ้งหอยทยอยตายจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่า สภาพการตายของหอยเป็นการตายสะสมประมาณ 40% ต่อ 1 เส้น และในตัวของหอยมีตะกอนดินโคลนอยู่เต็ม ส่วนสาเหตุการตายคาดว่าน่าจะเกิดจากสภาพน้ำเปลี่ยนแปลง ช่วงเปลี่ยนฤดู อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวทางจังหวัดได้ประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาด และห้ามเลี้ยงหอยแมลงภู่เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากที่เจอปัญหาพยาธิเมื่อปี 2552 เพื่อตัดวงจรโรคระบาด   แต่จากการสอบถามเกษตรกรชาวประมงทราบว่า มีความต้องการที่จะทดลองเลี้ยงเอง เพราะอยากรู้ ขณะเดียวกันหอยขาดตลาดและราคาดี และเห็นว่าปีนี้ไม่มีโรคระบาด แต่เป็นเพราะเกิดจากภาวะน้ำทะเลมีความร้อนสูง ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างซากหอย และเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ เพื่อหาสาเหตุการตายแล้ว
 










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

มข.วิจัยภูมิปัญญาไทย ปั้นตุ่ม ต่อลมหายใจนักปั้นบ้านหัวบึง

มข.วิจัยภูมิปัญญาไทย ปั้นตุ่ม
ต่อลมหายใจนักปั้นบ้านหัวบึง




คมชัดลึก :หากย้อนไปเมื่อสมัย 40-50 ปีที่แล้ว "ตุ่มดิน" ถือเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่มของคนสมัยก่อน ทุกครัวเรือนมักจะมีตุ่มน้ำตั้งอยู่หน้าบ้าน ทำให้ชาวบ้านหัวบึง ต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเดิมเป็นชาวโคราชที่อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ได้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านในการปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากด่านเกวียนมายึดเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือนทำอาชีพปั้นตุ่ม







   ปัจจุบันที่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างไฟฟ้าได้ขยายไปสู่ชนบท ทำให้แทบทุกครัวเรือนมีตู้เย็นสำหรับแช่น้ำดื่ม ขณะที่ตุ่มน้ำก็ค่อยๆ เลือนหายไป จนทำให้ชาวบ้านหัวบึงเดิมทำเป็นอาชีพหลัก ก็ค่อยๆ ทำเป็นอาชีพเสริม จนปัจจุบันบ้านหัวบึงเหลือคนทำปั้นตุ่มไม่ถึง 5 ครัวเรือน เพราะตุ่มน้ำขายไม่ออก
 "ทุกวันนี้ไม่มีแล้วตุ่มน้ำ เพราะเวลาเอาไปขายเขาไม่ซื้อ เขาบอกว่าเชย ส่วนใหญ่เขาใช้ตู้เย็นและกระติกน้ำแข็งแทน เวลาไปขายคนซื้อพูดอย่างนี้ เราก็รู้สึกอาย" คำบอกเล่าของนางกุล กุมพล นักปั้นตุ่มแห่งบ้านหัวบึงที่คร่ำหวอดในอาชีพนี้มากว่า 50 ปีได้ระบายความรู้สึกให้ฟัง
 ด้วยเหตุนี้ ผศ.ธนสิทธิ์ จันทะรี อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการ "การพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน" พร้อมคณะนักวิจัย จึงลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผา พร้อมทั้งยังนำเอาความรู้ด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์มาถ่ายทอด และต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้าน ให้กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านหัวบึงสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน
 ผศ.ธนสิทธิ์ เผยว่า มีการศึกษาวิจัยในภาพรวมเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน โดยเฉพาะการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบใหม่ๆ ออกมามากมาย ได้แก่ เก้าอี้ อ่างน้ำ แจกัน โมบาย โคมไฟ อ่างบัว กระถาง ไฟน้ำผุด กระถางแขวนมีโมบาย และชุดอโรมา โดยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน เน้นความเรียบง่าย
 "สาเหตุที่ใช้ฟางข้าวเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมีอยู่ในท้องถิ่นและเป็นวิธีการเผาตั้งแต่สมัยบ้านเชียง อีกทั้งยังให้อุณหภูมิสูง ใช้เวลาเผาเพียง 30 นาที ก็สามารถนำตุ่มไปใช้ได้ ในขณะที่ใช้เชื้อเพลิงจากแกลบจะใช้เวลาในการเผาเฉลี่ยถึง 10 วัน"
  หัวหน้าทีมวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในท้องถิ่น เน้นเอกลักษณ์เฉพาะตน และส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ควบคู่กับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบตลาด แต่ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะกระถางต้นไม้ที่มีต้นกล้วยไม้ปลูกอยู่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าตัว ปัจจุบันได้นำเอาผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านไปวางจำหน่ายที่สวนเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลานไม้มิตรภาพ และตลาดกุดกว้าง 
 ด้าน นางก้าน เกิดดี วัย 56 ปี ชาวบ้านหัวบึงที่ทำอาชีพปั้นตุ่มมาตั้งแต่อายุ 15 ปี บอกว่า อาชีพหลักของตนคือทำไร่ทำนา ส่วนการปั้นตุ่มเป็นอาชีพเสริมและตัดสินใจเลิกขายเมื่อ 2 ปีก่อน เพราะขายไม่ได้ เนื่องจากทำตุ่มน้ำเพียงอย่างเดียว อีกทั้งวัตถุดิบก็เริ่มหายาก แต่หลังจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ยังปั้นตุ่มเป็นอาชีพเสริมเหมือนเดิม
 ปัจจุบันมีรายได้จากการปั้นตุ่มถึง 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน โดยเฉพาะกระถางดอกไม้แบบคู่ ขายดีมาก รองลงมาก็จะเป็นประเภทโคมไฟ 
 การที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งเห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่กำลังจะสูญหายไป และเข้าไปศึกษา วิจัย ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ ก็ทำให้ชาวบ้านหัวบึงต่อลมหายใจ จนทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผายังคงอยู่คู่กับชาวบ้านต่อไป
"มยุรี อัครบาล"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

เปิดแล้วน้ำสลัดเตี๋ยวเรือโบราณ

เปิดแล้วน้ำสลัดเตี๋ยวเรือโบราณ





คมชัดลึก : คึกคักไม่น้อยสำหรับงานมหกรรมรวมพลังเพื่อวันใหม่ และงานบางกอกเฮลท์เดย์ ปิดถนนให้คนเดินบนถนนสีลม โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับ กทม. จัดขึ้นเพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองมาเปิดบูธขายสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม







  อย่างน้อยก็เป็นทางออกให้พ่อค้าแม่ขายจะได้ระบายสินค้าและประชาชนก็จะได้เลือกหาซื้อสินค้าในราคาถูก เป็นการพบกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยตรง บางทีบรรยากาศแบบนี้ในใจกลางเมืองคงจะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก หลายคนบอกว่ารัฐบาลน่าจะจัดงานในลักษณะนี้บ่อยๆ อย่างน้อย 2-3 เดือนครั้ง เพราะจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า
 การจัดงานอาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้าระยะยาวจะต้องหาอาชีพให้เขา เพื่อให้เขามีรายได้ โดยเฉพาะ "ผู้ตกงาน" อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองหรือผู้ที่อยากมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ต้องไม่พลาดการอบรมวิชาชีพระยะสั้นในโครงการ "คม ชัด ลึก ฝึกอาชีพ" ซึ่งจะเปิดอบรมในทุกวันเสาร์-อาทิตย์และจะเปิดอบรมเพิ่มในวันศุกร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
 อย่างที่เปิดสอนใน วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน และอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน ก็มีหลายหลักสูตรให้เลือก อาทิ การทำน้ำสลัดสายรุ้ง 12 สีเพื่อสุขภาพสูตรไขมันต่ำ โดยสันทนา รัตนอำนวยศิริ เจ้าของน้ำสลัดสายรุ้ง 12 สีเจ้าเก่า เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ ต่อมาเป็น "อาหารไทย-อีสานรสแซบ 15 อย่าง" โดยคุณรัญชิดา ปทุมมานุรักษ์ หรือคุณแคท ต้นตำรับไก่ย่างสมุนไพร
 และสุดท้าย ก๋วยเตี๋ยวเรือโบราณ สูตรสมุนไพรไทย 10 ชนิด (ไม่ใส่ผงชูรส) โดยคุณอรภา ธนาธีระสกุล เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือโบราณ ย่านถนนหทัยราษฎร์ หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเปิดร้านก๋วยเตี่ยวเรือ ทุกหลักสูตรจะเน้นการฝึกปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน โดยการเรียนการสอนทุกหลักสูตรจะอยู่บริเวณชั้น 3 ศูนย์การค้าแฮปปี้แลนด์ เซ็นเตอร์ (ตรงข้างเดอะมอลล์ บางกะปิ) สนใจสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่โทร.0-2338-3356-7, 08-9493-5772 (ค่าลงทะเบียน 1,284 บาท/วิชา/คน ฟรีเอกสารประกอบการสอน อาหารกลางวันและอาหารว่าง ตลอดหลักสูตร)
 เปิดโอกาสแล้วสำหรับผู้รักงานบริการ บุคลิกและอัธยาศัยดี มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญในเรื่องการทำผม-ทำเล็บ "ร้านสปาเฮดทูโท" ซ.สุขุมวิท 29 กทม.ต้องการช่างทำผม-ทำเล็บมืออาชีพหลายอัตรา ทำงานจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. แต่มีข้อแม้เล็กน้อยว่าจะต้องทำได้ทั้งผมและเล็บ ใครรู้ว่าตัวเองมีฝีมือและรักงานบริการ ติดต่อ 08-9609-3333 ด่วนครับ!
"สุรัตน์ อัตตะ"surat_a@nationgroup.com










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

นมน้อยผลบำรุงน้ำนม

นมน้อยผลบำรุงน้ำนม





คมชัดลึก : เมื่อก่อนจะพบเห็นต้น "นมน้อย" ได้ตามป่าละเมาะ แต่ปัจจุบันมักจะห่างหายไปนานๆ จะเจอสักต้น มีประโยชน์ทีเดียว อย่างผลกินได้ช่วยบำรุงน้ำนม ส่วนรากนำมาต้มน้ำดื่มแก้กล้ามเนื้อท้องเกร็งได้ดี







  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กอยู่ในวงศ์  ANNONACEAE ลำต้นตรงสูงประมาณ 1-1.5 เมตร เปลือกต้นสีออกเทาอมดำ
 ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามกิ่ง รูปทรงขอบขนาน กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ สีเขียว ผิวใบค่อนข้างเรียบ
 ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่ง เวลาบานมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกสีเหลืองอ่อนมี 4-5 กลีบ รูปทรงรี โคนกลีบแผ่กว้าง ปลายแหลมและโค้งเข้าหากัน
 ผล ออกเป็นกลุ่มรูปทรงกลม เปลือกบาง เวลาสุกสีน้ำตาลแดง กินได้
 ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบความชื้นและแสงแดดปานกลาง
"นายสวีสองฆ










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

เปิดศูนย์อบรม ผู้นำสหกรณ์ ก้าวสู่มืออาชีพ

เปิดศูนย์อบรม
ผู้นำสหกรณ์
ก้าวสู่มืออาชีพ




คมชัดลึก :กรมส่งเสริมสหกรณ์ตั้ง สถาบันพัฒนากรรมการสหกรณ์ เป็นศูนย์กลางเรียนรู้ ให้บริการพัฒนาผู้บริหารสหกรณ์กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มศักยภาพบุคลากรได้ปีละ 800-1,000 คน ก้าวสู่ผู้นำมืออาชีพ







   นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนากรรมการสหกรณ์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และให้บริการเกี่ยวกับการพัฒนากรรมการสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 7,600 แห่ง ให้มีศักยภาพและก้าวสู่การเป็นผู้นำแบบมืออาชีพ พร้อมสร้างเครือข่ายรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ มุ่งให้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสหกรณ์ของตนเองให้ได้มาตรฐาน มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดเผยอีกว่า สถาบันมีศูนย์พัฒนากรรมการสหกรณ์ที่ 1 จ.นครราชสีมา และศูนย์พัฒนากรรมการที่ 2 จ.เชียงใหม่ ทำหน้าที่จัดฝึกอบรมตามแผนพัฒนากรรมการสหกรณ์ โดยทั้ง 2 ศูนย์จะเริ่มเปิดให้บริการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสหกรณ์ที่มีความสนใจ โดยจะนำร่องรุ่นแรกภายในเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งปีแรกนี้คาดว่าจะสามารถพัฒนากรรมการสหกรณ์ได้ไม่น้อยกว่า 200 คน และปีถัดไปคาดว่าจะสามารถรองรับได้ปีละ 800-1,000 คน
 “สาเหตุที่ทำให้สหกรณ์หลายแห่งไม่เข้มแข็ง และเกิดความล้มเหลวในการดำเนินกิจการสหกรณ์ ส่วนหนึ่งเกิดจากคณะกรรมการสหกรณ์ไม่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันยังขาดระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีปัญหาทุจริตฉ้อโกง และมีสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ไม่ถึง 60% ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาผู้นำสหกรณ์ให้เป็นมืออาชีพเพื่อเป็นกลไกนำพาสหกรณ์ไปสู่เป้าหมายและสามารถพึ่งพาตนได้” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
 










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

Blog Archive