Monday, May 31, 2010

มข.วิจัยภูมิปัญญาไทย ปั้นตุ่ม ต่อลมหายใจนักปั้นบ้านหัวบึง

มข.วิจัยภูมิปัญญาไทย ปั้นตุ่ม
ต่อลมหายใจนักปั้นบ้านหัวบึง




คมชัดลึก :หากย้อนไปเมื่อสมัย 40-50 ปีที่แล้ว "ตุ่มดิน" ถือเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่มของคนสมัยก่อน ทุกครัวเรือนมักจะมีตุ่มน้ำตั้งอยู่หน้าบ้าน ทำให้ชาวบ้านหัวบึง ต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเดิมเป็นชาวโคราชที่อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ได้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านในการปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากด่านเกวียนมายึดเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือนทำอาชีพปั้นตุ่ม







   ปัจจุบันที่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างไฟฟ้าได้ขยายไปสู่ชนบท ทำให้แทบทุกครัวเรือนมีตู้เย็นสำหรับแช่น้ำดื่ม ขณะที่ตุ่มน้ำก็ค่อยๆ เลือนหายไป จนทำให้ชาวบ้านหัวบึงเดิมทำเป็นอาชีพหลัก ก็ค่อยๆ ทำเป็นอาชีพเสริม จนปัจจุบันบ้านหัวบึงเหลือคนทำปั้นตุ่มไม่ถึง 5 ครัวเรือน เพราะตุ่มน้ำขายไม่ออก
 "ทุกวันนี้ไม่มีแล้วตุ่มน้ำ เพราะเวลาเอาไปขายเขาไม่ซื้อ เขาบอกว่าเชย ส่วนใหญ่เขาใช้ตู้เย็นและกระติกน้ำแข็งแทน เวลาไปขายคนซื้อพูดอย่างนี้ เราก็รู้สึกอาย" คำบอกเล่าของนางกุล กุมพล นักปั้นตุ่มแห่งบ้านหัวบึงที่คร่ำหวอดในอาชีพนี้มากว่า 50 ปีได้ระบายความรู้สึกให้ฟัง
 ด้วยเหตุนี้ ผศ.ธนสิทธิ์ จันทะรี อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการ "การพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน" พร้อมคณะนักวิจัย จึงลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผา พร้อมทั้งยังนำเอาความรู้ด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์มาถ่ายทอด และต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้าน ให้กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านหัวบึงสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน
 ผศ.ธนสิทธิ์ เผยว่า มีการศึกษาวิจัยในภาพรวมเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน โดยเฉพาะการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบใหม่ๆ ออกมามากมาย ได้แก่ เก้าอี้ อ่างน้ำ แจกัน โมบาย โคมไฟ อ่างบัว กระถาง ไฟน้ำผุด กระถางแขวนมีโมบาย และชุดอโรมา โดยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน เน้นความเรียบง่าย
 "สาเหตุที่ใช้ฟางข้าวเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมีอยู่ในท้องถิ่นและเป็นวิธีการเผาตั้งแต่สมัยบ้านเชียง อีกทั้งยังให้อุณหภูมิสูง ใช้เวลาเผาเพียง 30 นาที ก็สามารถนำตุ่มไปใช้ได้ ในขณะที่ใช้เชื้อเพลิงจากแกลบจะใช้เวลาในการเผาเฉลี่ยถึง 10 วัน"
  หัวหน้าทีมวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในท้องถิ่น เน้นเอกลักษณ์เฉพาะตน และส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ควบคู่กับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบตลาด แต่ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะกระถางต้นไม้ที่มีต้นกล้วยไม้ปลูกอยู่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าตัว ปัจจุบันได้นำเอาผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านไปวางจำหน่ายที่สวนเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลานไม้มิตรภาพ และตลาดกุดกว้าง 
 ด้าน นางก้าน เกิดดี วัย 56 ปี ชาวบ้านหัวบึงที่ทำอาชีพปั้นตุ่มมาตั้งแต่อายุ 15 ปี บอกว่า อาชีพหลักของตนคือทำไร่ทำนา ส่วนการปั้นตุ่มเป็นอาชีพเสริมและตัดสินใจเลิกขายเมื่อ 2 ปีก่อน เพราะขายไม่ได้ เนื่องจากทำตุ่มน้ำเพียงอย่างเดียว อีกทั้งวัตถุดิบก็เริ่มหายาก แต่หลังจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ยังปั้นตุ่มเป็นอาชีพเสริมเหมือนเดิม
 ปัจจุบันมีรายได้จากการปั้นตุ่มถึง 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน โดยเฉพาะกระถางดอกไม้แบบคู่ ขายดีมาก รองลงมาก็จะเป็นประเภทโคมไฟ 
 การที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งเห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่กำลังจะสูญหายไป และเข้าไปศึกษา วิจัย ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ ก็ทำให้ชาวบ้านหัวบึงต่อลมหายใจ จนทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผายังคงอยู่คู่กับชาวบ้านต่อไป
"มยุรี อัครบาล"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive