Saturday, March 20, 2010

การเมืองแบบธรรมาธิปไตย

การเมืองแบบธรรมาธิปไตย



คมชัดลึก :ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการแบ่งสีแยกฝ่ายในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้อย่างหนัก และถ้ายอมเปิดใจกว้างสดับตรับฟังทั้ง เหลือง และ แดง ประเด็นปัญหาที่ยกมาอ้างเพื่อลบล้างความชอบธรรมของอีกฝ่าย ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น ปัญหาสังคม ความไม่ยุติธรรม อภิสิทธิ์ การใช้อำนาจบาตรใหญ่ การมีสองมาตรฐาน ซึ่งล้วนไม่สามารถแก้ไขได้ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบเดิม







 การต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบันจึงเป็นความพยายามในการเปลี่ยน “ขั้วอำนาจ” มากกว่าการ “เปลี่ยนสังคม” ให้ดีขึ้น เพียงแต่การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจได้พัฒนายกระดับโดยการดึงเอามวลชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แทนการช่วงชิงอำนาจในหมู่นักการเมืองด้วยกันเองเหมือนแต่ก่อน เพราะทุกคนต่างก็เชื่อกันว่า หากประชาธิปัตย์ไปและเพื่อไทยมา ปัญหาที่ถกเถียงกันก็จะยังวนเวียนอยู่ในวังวนเดิมๆ เพียงแค่ "เปลี่ยนตัวละคร" แต่ฉากก็จะยังเป็นฉากเดิมๆ  
 คำถามที่อาจารย์ยักษ์มีมาตลอดตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อำนาจที่รัชกาลที่ 7 ได้ตั้งใจให้ไว้กับประชาชนนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลยในสังคมไทย อำนาจถูก “รวมศูนย์” ไว้ที่ส่วนกลาง จนส่วนกลางกลายเป็นระบบราชการที่อ้วน ใหญ่ เทอะทะ และไร้ประสิทธิภาพ จนไม่อาจบริหารประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ 
 ทุกอย่างถูกทำให้เป็น “มาตรฐานเดียว” แทนการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งถือเป็นความสวยงามของสังคมไทย
 เรากำลังพูดถึง พหุสังคม แต่ขณะเดียวกันก็ครอบงำสังคม พยายามทำให้ทุกคนต้องยอมรับ “มาตรฐาน” ที่ยืมมาจากคนอื่น โดยไม่ได้มองรากเหง้าของตนเอง!!!
 ยังจำกันได้ไหมว่าเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใหม่ๆ ผู้นำไทยหลงใหลได้ปลื้มจนทุบทำลายของดีๆ ของปู่ย่าตายายของเราไป ดนตรีไทยกลายเป็นของต้องห้าม เหล้าที่ชาวบ้านกลั่นกินกันเองทุกวันจู่ๆ ก็ถูกตีตราว่าผิดกฎหมาย หมอไทยที่เคยเป็นที่พึ่งของคนยากถูกกล่าวหาว่าเป็นหมอเถื่อน ของที่ “ยืม” เขามาไม่ว่าจะใช้ได้หรือไม่ได้กลายเป็นของดีมีมาตรฐานทั้งเหล้า ยา หมอ รวมทั้ง “การเมือง” 
 ในการทำฝายของคนโบราณ เวลาเลือก “แก่ฝาย” ซึ่งจะเป็นผู้ที่ดูแลการสร้างฝายรวมถึงบริหารจัดการน้ำในชุมชน คนโบราณแม้ไม่ได้ร่ำเรียนมาสูงก็รู้ดีว่า แก้ฝายต้องมีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ 2 ประการ คือ หนึ่ง มีความยุติธรรม คือ รู้จักใช้ “ธรรม” ในการยุติปัญหา ข้อขัดแย้ง และการไม่ลงรอยกัน
 สอง มีความรู้ระดับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำและการสร้างฝาย คุณธรรมและความรู้ จึงเป็นคุณสมบัติที่ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ของผู้ปกครอง แม้ในระดับที่ถือเป็นหน่วยเล็กๆ อย่างการสร้างฝาย   การเมืองไทยปัจจุบันขาดทั้งสองส่วน เพราะ “ยืม” คนอื่นมาโดยไม่ได้มองรากเหง้าของตนเอง ในขณะที่ทิ้งทำลายของเก่า โดยที่ก็ไม่รู้ว่าของใหม่คืออะไร แต่เชื่อไว้ก่อนว่า ของใหม่ต้องดีกว่าของเก่า 
 การเมืองในคราบ “ประชาธิปไตย” ของเราที่ยืมเขามาจึงเป็นการเมืองแบบ “ลูกผีลูกคน”  เหมือนเสื้อผ้าที่ใส่ทีไรก็ไม่เคยพอดีตัวเสียที ถ้าจะให้พอดีก็จะต้อง “หั่น” ส่วนเกินออกซึ่งก็จะต้องมีอาการบาดเจ็บ
 ทำไมเราไม่เอาเสื้อที่เราเคยใส่พอดียี่ห้อ “ธรรมาธิปไตย” กลับมาใส่อีกครั้ง จะดูเชยแต่ใส่สบายก็ชั่งปะไร!!!
"อาจารย์ยักษ์ ณ มหาลัยคอกหมู"
  










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive