Wednesday, March 31, 2010

เอสซีจี เปเปอร์ าเยี่ยมโรงเรียนตชด.ดูวิธีแปลงกระดาษเป็นอุปกรณ์การเกษตร

เอสซีจี เปเปอร์ าเยี่ยมโรงเรียนตชด.ดูวิธีแปลงกระดาษเป็นอุปกรณ์การเกษตร



คมชัดลึก : นอกจากการสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษาแก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อติดอาวุธทางปัญญาพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี






 การส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ระบบการทำเกษตรแบบย่อมเพื่อนำผลผลิตที่ได้มาเป็นอาหารกลางวันแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของชาติ
 "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้ ตามคณะผู้บริหารบริษัท อินโฟเซฟ จำกัด ในเครือเอสซีจี เปเปอร์ นำโดย พุทธพร แสงรัตนเดช กรรมการผู้จัดการบริษัท เดินทางไปมอบโอกาสให้น้องๆ นักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ตามโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ จ.เลย จำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนฮิลมาร์พาเบิล ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนวังชมพู ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนหนองแคน ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมราษฎร์บำรุง ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอ และ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนานกปีด ตามโครงการ“Shred2share” ข้อมูลปลอดภัยร่วมใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม มีพันธมิตร 36 องค์กร อาทิ ธ.กรุงไทย ธ.ไทยพาณิชย์ มติชน เนชั่นกรุ๊ป ห้างคาร์ฟูร์ ฯลฯ ร่วมเดินทางไปมอบโอกาสด้วย
 พุทธพร กล่าวถึงโครงการ เชท ทู แชร์ (Shred2share) “เปลี่ยนความลับให้เป็นความรัก” มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ส่วน คือ ส่วนแรก “Shred2” อินโฟเซฟจะจัดเก็บเอกสารและข้อมูลสำคัญที่หมดอายุหรือไม่ใช้แล้วจากบริษัทพันธมิตรมาย่อยทำลายตามกระบวนการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จากนั้นส่วนที่สองคือ  “share” แรก คือการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยกระดาษที่ได้จากโครงการนี้จะถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 447 ตัน และลดการใช้ถ่านหินได้ 189 ตัน รวมไปถึงลดการใช้น้ำได้ถึง 8.6 หมื่นลูกบาศก์เมตร  
 สำหรับ “share” ที่สอง เอสซีจี เปเปอร์และอินโฟเซฟจะสมทบทุน 2,000 บาทต่อ 1 ตันของข้อมูลที่องค์กรพันธมิตรนำมาย่อยทำลายนำมารวบรวมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษาแก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อปลูกจิตสำนึกในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของข้อมูลให้แก่เยาวชนต่อไป ซึ่งในครั้งนี้รวบรวมเงินทุนจากการย่อยทำลายเอกสารความลับได้ทั้งหมด 1.4 ล้านบาท
 “หากเรานำเอกสารที่เป็นความลับไปทำลายโดยวิธีการเผา นอกจากจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย แล้วยังเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายเอกสารที่เป็นความลับอีก ดังนั้น โครงการเชท ทู แชร์ จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและมอบโอกาสแก่เยาวชนไทยได้ในอนาคต” บอสใหญ่อินโฟเซฟ เผย
 สำหรับประโยชน์ที่ได้จากโครงการนี้ วุฒินันท์ แก้วสอาด ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินโฟเซฟ จำกัด กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือต้องส่งอุปกรณ์การพัฒนาให้เขาอยู่รอดให้ได้ เพราะเชื่อว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่เรามอบให้ จะเป็นเสมือน แขนขาอีกแรงที่จะสร้างแรงให้เขาพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งโรงเรียนมีระบบการเกษตรแบบย่อม ซึ่งตรงนี้นับเป็นก้าวเล็กๆ ที่จะต่อยอดไปสู่ก้าวที่ใหญ่ขึ้น
 "ผมมองว่า ถ้ามีโรงเรียน แปลงเกษตรนั้นจะขาดไม่ได้เลย เพราะถือเป็นหัวใจของการมีสุขอนามัยที่ดีทั้งทางกายและใจ โดยการทำแปลงเกษตรเองจะลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นบ่อเลี้ยงปลา เล้าไก่ เล้าหมู แปลงผัก เรือนเพาะเห็ด ถ้าสนับสนุนให้เด็กทำได้ตั้งแต่วันนี้ก็ถือเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการปลูกจิตสำนึกให้ยึดวิถีพอเพียง เพราะนอกจากเด็กจะมีพัฒนาการแล้วยังเป็นการสร้างอาชีพในชุมชนได้อีกด้วย” ผู้จัดการคนเดิมระบุ
 ส่วนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอย่าง ด.ญ.จินดาพร ทองทับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประธานนักเรียน ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนานกปีดยอมรับว่า อุปกรณ์การเรียนที่โครงการเชท ทู แชร์ นำมามอบให้ ถือว่ามีประโยชน์มาก เพราะจะเป็นการลดต้นทุนการซื้ออุปกรณ์การเรียน และนำมาซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรแทน เช่น วัตถุดิบการผลิตเห็ดนางฟ้าจากขี้เลื่อย ซึ่งมีราคาแพงถึง  4 หมื่นบาทต่อ 1 คันรถสิบล้อ ครูจึงส่งสริมให้ใช้ซังข้าวโพดแทนขี้เลื่อย แต่ก็ให้ผลผลิตได้ไม่ดีนัก เนื่องจากถุงเห็ดที่ทำจากซังข้าวโพดเกิดเชื้อราได้ง่าย
 “โครงการแปลงเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ประกอบด้วย การเลี้ยงปลาดุก ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่และไก่พันธุ์เนื้อ เพาะเห็ดนางฟ้า ซึ่งครูส่งเสริมให้นักเรียนอัดเชื้อเห็ดเองตามสูตร คีอนำซังข้าวโพด หรือขี้เลื่อยไปบดให้ละเอียด ชั่งและผสมอาหารตามสูตรแล้วกรอกใส่ถุง ใส่คอขวดแล้วรัดด้วยยาง ปิดจุก นำไปนึ่งฆ่าเชื้อ 2-4 ชั่วโมง จากนั้นเขี่ยเชื้อลงในถุงอาหารเห็ด บ่มเชื้อและปิดคอกทิ้งไว้ 25-30 วัน  เห็ดก็จะเกิดและสามารถเก็บได้ นอกจากนี้เรายังสามารถนำเชื้อเห็ดที่หมดสภาพแล้วนำไปทำปุ๋ยได้” น้องจินดาพร เล่าอย่างฉะฉาน
 ด้านครูผู้เสียสละอย่าง ดาบตำรวจไฉน พูดขุนทศ ครูผู้สอน เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนานกปีด ต.ห้วยบ่อซืน อ.ปากชม จ.เลย กล่าวว่า ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนานกปีดเป็นโรงเรียนที่ดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร นอกจากนี้แล้วการที่ให้นักเรียนได้ทำเกษตรในโรงเรียนจะเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้นักเรียนมีอาชีพ สร้างพื้นฐานการเป็นยุวะเกษตรรุ่นเยาว์ เข้าใจระบบสหกรณ์ บัญชี ความซื่อสัตย์ โดยจะเน้นการเรียนการสอนแบบพี่สอนน้อง เป็นรุ่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กมีสัมพันธไมตรีอย่างกว้างขวาง และยั่งยืนต่อไป
 นับเป็นความโชคดี ที่เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารยังได้รับโอกาส ในการส่งเสริมและสรรค์สร้างอาชีพให้พอเพียงในโรงเรียน ภายใต้โครงการเปลี่ยนความลับให้เป็นความรัก หรือเชท ทู แชร์ที่ทางอินโฟเซฟและพันธมิตรกว่า 36 องค์กรมอบให้
วิรัตน์ ภูดวงศรี










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive