Wednesday, March 31, 2010

ทิศทางเกษตรไทยในปีเสือเตรียมรับกับสารพัดปัญหา

ทิศทางเกษตรไทยในปีเสือเตรียมรับกับสารพัดปัญหา



คมชัดลึก :ประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลกย่อมส่งผลกระทบมาถึงเราด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมไปถึงการเกษตรของเมืองไทยเราด้วย






โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ถ้าเราอยากรู้ว่าในปีใหม่นี้สถานการณ์การเกษตรของเราจะเป็นอย่างไร คงจะคาดเดาได้ยากเพราะว่ามีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องมาก รวมทั้งความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตของโลกเปลี่ยนไป หากเราโชคดีที่ประเทศอื่นเกิดความเสียหาย
บังเอิญเรามีผลผลิตดี ก็เป็นโอกาสของเราในการครอบครองตลาด แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าอากาศดีไปทั่วโลก ผลผลิตก็ย่อมล้นตลาด และเราก็คงขายของได้ยากขึ้นเพราะว่ามีคู่แข่งมากขึ้น เป็นต้น
ดังนั้นการที่จะหวังโอกาสแบบนี้ค่อนข้างเสี่ยงและมีความไม่แน่นอน แต่ว่าเราน่าจะเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจริงๆ ในเวลาอันใกล้นี้มากกว่า เรื่องเหล่านี้ก็ได้แก่ปัญหาโลกร้อน และเรื่องประชากรสูงวัย รวมทั้งแนวโน้มที่เราจะขาดแคลนเกษตรกรในอนาคต หลายคนยังมองไม่เห็นว่าปัญหาเหล่านี้จะเข้ามามีผลกระทบต่อการเกษตรของบ้านเราอย่างไร หรือถ้าจะมองให้ละเอียดลงไปก็คือยังมองไม่ออกว่าจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตประจำวันของคนไทย หากวิเคราะห์ให้ลึกพอก็จะมองเห็นปัญหาใหญ่รออยู่ข้างหน้าอย่างชัดเจนและหากเราไม่เตรียมมาตรการรองรับตั้งแต่วันนี้ ก็รับรองได้ว่าเดือดร้อนกันไปทั่ว ทั้งนี้ไม่ต้องคาดเดาเป็นรายปีว่าในแต่ละปีราคาผลิตผลจะเป็นอย่างไร เพราะว่าเรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไป
ปัญหาโลกร้อน
 เมื่อเดือนที่แล้วมีการประชุมระดับผู้นำของโลกเพื่อถกกันเรื่องมาตรการลดปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะว่าทั่วทั้งโลกกำลังกังวลเรื่องนี้อยู่ และพยายามสร้างมาตรการต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบต่อเมืองไทยด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าวันนี้มาตรการยังไม่ชัดเจนและยังตกลงกันไม่ได้ แต่ว่าเราคงหนีไม่พ้นเรื่องของการใช้มาตรการต่างๆ ในการกีดกันไม่ให้เราผลิตสินค้าตามใจชอบได้ ปัญหาโลกร้อนสามารถมองได้ 2 ประเด็นคือ
 ประเด็นแรก หากโลกร้อนขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส น้ำแข็งทั่วโลกเกิดละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดน้ำท่วมในหลายส่วนของโลก สมดุลของโลกเปลี่ยนไป เกิดทั้งภาวะแห้งแล้งในบางพื้นที่และน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พืชผลที่เคยปลูกกันอยู่ก็คงไม่ได้ผลผลิตเหมือนอย่างเดิม รวมทั้งการระบาดของโรคและแมลงก็จะเปลี่ยนแปลงไปและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น เพราะว่าอากาศร้อนขึ้นจึงเหมาะสมต่อการระบาด ดังนั้นจะเกิดภาวะที่เรียกว่ายุคข้าวยากหมากแพง เพียงแต่ว่าปัญหาดังกล่าวนี้ยังค่อนข้างไกลตัวมาก และยังใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา อาจเห็นได้ในช่วงอายุของลูกหลานมากกว่า
 ประเด็นที่สองที่ใกล้ตัวเข้ามาหน่อยก็คือ มาตรการต่างๆ ที่ทำให้เราทำการเกษตรยากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดเรื่องการใช้และการปลดปล่อยคาร์บอน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตว่ามีมากน้อยเพียงใด ความสามารถในการลดของเสียในกระบวนการผลิตว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด เรื่องใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้มาตรการเดิมๆ อย่างเช่นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร เรื่องของระบบติดตามตั้งแต่ฟาร์มถึงผู้บริโภค หรือ Traceability กลายเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องเล็กไปเลย บรรดามาตรการเดิมๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะ
 ประเทศไทยยังต้องวิ่งไล่ตามมาตลอด และมีการพัฒนาได้เพียงบางส่วน แล้วก็ต้องมาเจอหรือกำลังจะเจอมาตรการใหม่ๆ ขึ้นมาอีก นั่นหมายถึงว่า เราต้องมีการเตรียมการอีกมากเพื่อให้ตอบสนองต่อมาตรการดังกล่าว ถ้าจะถามว่าเราต้องไปสนใจเรื่องเหล่านั้นทำไม หากละเลยหรือไม่ทำอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ คำตอบก็คือหากไม่ทำก็ขายผลิตผลไม่ได้ ถ้าขายไม่ได้ราคาในประเทศก็จะตกต่ำลงมาก และจะมีปัญหาสังคมตามมาเป็นลูกโซ่ โดยสรุปก็คือโลกอนาคตต้องการอาหารที่นอกจากจะปลอดภัยจากสิ่งปนเปื้อนต่างๆ แล้ว ยังต้องการอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาคนสูงอายุ
 การคุมกำเนิดของไทยมีประสิทธิภาพสูงมาก จนทำให้อัตราการเพิ่มประชากรอยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศ รวมทั้งระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยมีอายุยืนมากขึ้น ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยประมาณ 72 ปี ผลก็คือเมืองไทยจะอุดมไปด้วยคนสูงอายุที่ไม่อยู่ในวัยแรงงาน ทำให้ผลิตภาพการผลิตของประทศโดยรวมจะลดลง แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรก็คงเป็นเรื่องของอาหารการกิน คนสูงอายุต้องการอาหารที่มีความพิเศษมากกว่าปกติ เช่น น้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ รวมทั้งอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระทั้งหลายเพราะมีความเชื่อว่าน่าจะลดการเกิดมะเร็งได้ ดังนั้นจึงอาจเรียกอาหารกลุ่มนี้ได้ว่าอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหารสุขภาพ และไม่เฉพาะคนสูงอายุเท่านั้นที่ต้องการอาหารสุขภาพ แต่ว่าคนที่มีกำลังซื้อมากๆ ก็อยากเลือกหาอาหารกลุ่มนี้มาบริโภคแทนอาหารปกติ ส่งผลให้ตลาดและความต้องการอาหารสุขภาพของคนในประเทศ รวมทั้งของโลก เพิ่มมากขึ้นและยังเป็นคงเป็นกระแสที่กำลังมาแรง
 ฉะนั้นอนาคตของอาหารกลุ่มนี้จึงยังสดใสอยู่มาก แต่ว่าความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาอาหารกลุ่มนี้ เพราะว่าคงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีการปลูกหรือเลี้ยงเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่นความพยายามในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีสีเข้มของสารแอนโทไซยานินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ จนได้ข้าวหอมนิลขึ้นมา การพัฒนาน้ำตาลที่ให้ความหวานเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้พลังงานหรือไม่ดูดซึมในร่างกาย ซึ่งทำให้คนที่เป็นโรคเบาหวานสามารถมีความสุขจากการบริโภคอาหารได้มากขึ้น
  นอกจากนี้ พวกผักพื้นบ้านทั้งหลายของไทยก็น่าจะมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพ เพราะว่ามีองค์ประกอบของสารหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าผักที่เราคุ้นเคยกันอยู่ตามตลาด เป็นต้น ความรู้เหล่านี้น่าจะเป็นช่องทางสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้เมืองไทยเราพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นครัวของโลกได้
ปัญหาขาดแคลนเกษตรกร
 เมืองไทยเป็นเมืองเกษตร เมื่อก่อนนี้ร้อยละ 80 ของประชากรไทยทำอาชีพเกษตร แต่มาถึงวันนี้จำนวนได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น และกำลังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เหตุผลก็เพราะว่าอายุของเกษตรกรที่มากขึ้นทุกปี อย่างเช่นปีนี้เคยมีผู้ประเมินไว้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทยอายุ 58 ปี ซึ่งมีกำลังพอที่จะทำเกษตรต่อไปได้อีกไม่กี่ปี แต่ที่น่าห่วงคือ ไม่มีผู้รับช่วงต่อ เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่พยายามหลีกเลี่ยงอาชีพเกษตร เนื่องจากเห็นว่าเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก และที่สำคัญคือมองว่ารายได้ต่ำ ไม่คุ้มกับการทำ จึงหาทางให้ได้เรียนสูงๆ เพื่อจะได้หลีกหนีออกจากพื้นที่ไปทำอาชีพอื่นหรือเป็นลูกจ้างในอุตสาหกรรมแทน
  ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องที่ดิน ซึ่งนับวันจะมีราคาสูงขึ้นมาก จึงเกิดการขายที่ดินเกษตรเพื่อไปทำธุรกิจอื่น ที่เห็นกันมากก็คือที่ดินเกษตรสวยๆ ได้กลายมาเป็นรีสอร์ทไปแล้วหลายแห่ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อแรงงานขาดแคลน ความต้องการใช้เครื่องจักรกลเกษตรจึงมีมากขึ้น และกลายเป็นธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เกษตรกรรูปแบบเดิมอีกต่อไป หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตคนไทยคงต้องซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมากิน และการเกษตรก็จะไม่ใช่เรื่องหลักของคนไทยอีกต่อไป
เตรียมรับมือกับโลกอนาคตตั้งแต่วันนี้
 การทำอาชีพเกษตรในอนาคต ต้องทำด้วยความรู้และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าช่วย แต่การเปลี่ยนแปลงเกษตรกรรุ่นเก่าที่เคยชินกับการปฏิบัติแบบเดิมนั้น คงเป็นไปได้ยาก แต่ยังมีช่องทางในการเตรียมคนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพเกษตรได้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มแล้วในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก.) เป็นแกนนำในการใช้นโยบายให้ความรู้เกษตรกรก่อนให้ที่ดิน โดยเป็นความร่วมมือกับสำนักงานการอาชีวศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นโครงการที่เสริมขึ้นมาหลังจากร่วมมือกันสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรมาแล้ว หากทำได้สำเร็จก็น่าจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถได้เป็นอย่างดี
 เมื่อมีคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมเรื่องแนวคิดใหม่แล้ว การผลิตตามความต้องการของตลาดก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ว่าต้องใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการผลิต แทนที่จะคอยดูคนอื่นทำก่อนแล้วค่อยทำตาม ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ได้เราก็อาจเห็นเกษตรกรทั่วไปร่ำรวยขึ้นก็ได้
 ตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไปเกษตรกรทั้งหลายคงต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวกับกระบวนการผลิตที่ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดการใช้สารเคมี การเพิ่มคุณภาพผลิตผล เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด รวมไปถึงการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ในสภาวะที่ปัจจัยการผลิตแต่ละอย่างมีราคาสูง รวมทั้งต้องปรับพฤติกรรมจากความเคยชินเดิมๆ ให้ได้ ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้เรามีข้อมูลค่อนข้างมากว่าการปลูกข้าวโดยปล่อยให้น้ำขัง ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศและเป็นสาเหตุของโลกร้อน ซึ่งประเด็นนี้จะกลายมาเป็นมาตรการกีดกันการส่งออกข้าวของเรา
 ทางออกชาวนาอาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำใหม่หมดก็เป็นได้ หรือเรื่องการไถพรวนที่ดินก็จะทำให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากเช่นกัน การปลูกข้าวแบบลดการไถพรวนก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย แต่อาจจำเป็นต้องทำ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องนำมาคิดและปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากแบบเดิมที่เราคุ้นเคย มาสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเน้นการเกษตรแบบผลิตเพื่อขาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
 อย่างไรก็ตาม หากใครคิดที่จะทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเปลี่ยนแปลงกระบวนการเหล่านี้อาจเบาบางกว่าเป็นต้น
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ








ข่าวที่เกี่ยวข้องเอกชนยอมตรึงราคาปุ๋ยตลอดปี53"วิถีชีวิต-ลายไทย" คว้าชัยเวทีเครื่องประดับ

มกอช.เร่งส่งเสริมการค้า "ไทย-จีน"

พ่อค้าส่งออกไทย อย่า ใจปลาซิว ?มณฑลกวางตุ้งซื้อสินค้าเกษตรไทย

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive