Wednesday, March 31, 2010

รัฐเตรียมรับมือแล้งหนักจากเอลนีโญ่กรมชลสารภาพน้ำไม่พอส่งภาคเกษตร

รัฐเตรียมรับมือแล้งหนักจากเอลนีโญ่กรมชลสารภาพน้ำไม่พอส่งภาคเกษตร



คมชัดลึก :มีการคาดการณ์กันว่าอานิสงส์จากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ่" ในปีนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยอย่างรุนแรงมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภัยแล้งที่ส่อเค้าว่าจะยาวนานหลายเดือน ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำตามมา โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรที่ปัจจุบันต้องอาศัยแหล่งน้ำจากชลประทานเป็นหลัก






 ชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทานเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาตรน้ำรวมกันทั้งหมด 51,987 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างทั้งหมด 73,555 ล้านลูกบาศก์เมตรและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
 ส่วนการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 ในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้รวมทั้งหมด 15.92 ล้านไร่ ปัจจุบัน (22 ม.ค.52) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 11.72 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งหมด เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 7.40 ล้านไร่ ขณะนี้มีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.15 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
  อธิบดีกรมชลประทานระบุอีกว่า ในส่วนของปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 มีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 58,726 ล้านลูกบาศก์เมตรน้อยกว่าปี 2551 ประมาณ 900 ล้านลูกบาศก์เมตร จากทั้งหมด 95,640 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ ณ ปัจจุบัน (27 ม.ค.) มีการใช้น้ำไปแล้วจำนวน 9,650 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนการใช้น้ำทั้งประเทศ จนถึงขณะนี้คงเหลือปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ได้ตามแผนอีกประมาณ 11,070 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 53 เท่านั้น   ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ชลิต ย้ำว่าคงเป็นไปได้ยาก ตราบใดที่ต้องพึ่งน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ในขณะที่อ่างเก็บน้ำก็มีอยู่จำกัด เก็บกักน้ำได้ไม่เกินเป้าที่กำหนดไว้ ขณะที่ความต้องการปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงทำได้แค่ปีต่อปีเท่านั้น ที่สำคัญไม่มีแหล่งน้ำสำรองจากที่อื่น นอกจากพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว ส่วนการทำฝนเทียมก็แก้ปัญหาได้ไม่มาก จะทำได้แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตรงจุดที่ขาดแคลนน้ำเท่านั้น
 "อ่างเก็บน้ำก็เปรียบเสมือนตุ่ม ฝนตกลงมามากแค่ไหนก็เก็บไว้ได้แค่เต็มตุ่ม แต่ต้องนำมาใช้ตลอดทั้งปี การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้ต้องเฉลี่ยการใช้น้ำในทุกตุ่ม เพราะเรามีอ่างเก็บน้ำอยู่จำกัด แต่ไม่ได้หมายความว่าการแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพิ่ม แต่เราจะเน้นการสร้างแก้มลิงและฝายมากกว่า เพราะก่อสร้างเสร็จรวดเร็วและกระจายไปตามชุมชนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง" อธิบดีกรมชลประทานกล่าวย้ำ
  ในขณะที่ วีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบำรุงรักษากล่าวเสริมว่า เนื่องจากปี 2552 ที่ผ่านมา เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เก็บกักน้ำรวมกันได้น้อยกว่าปี 2551 ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้การจัดสรรน้ำและกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดน้อยลง ทั้งนี้ จึงอยากขอความร่วมมือไปยังพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ทำนาปรัง หากยังทำนาปรังต่อเนื่องเต็มที่เหมือนเช่นปีที่ผ่านมาจะทำให้ต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่น้อยลดน้อยลงตามไปด้วยและจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน ดังนั้นเกษตรกรจึงควรลดทำนาปรังครั้งที่ 2 แล้วหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ 
 "เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ได้วางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ และการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีกส่วนหนึ่ง รวมกันเป็นจำนวน 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบัน (27 ม.ค.) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,610 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58 ของแผนการจัดสรรน้ำทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งที่เหลืออีก 3 เดือน จำนวน 3,390 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่น้ำต้นทุนส่วนหนึ่งก็ต้องสำรองไว้ไล่น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งหนักเดือนมีนาคม-เมษายนอีกด้วย" รองอธิบดีกรมชลประทานยืนยัน
  การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งที่ปีนี้คาดว่าจะแล้งหนักและยาวนานกว่าทุกปี ลำพังแค่หน่วยงานเล็กๆ อย่างกรมชลประทานคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยไม่ลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังทั้งระบบ
เตือนชาวนาพิจิตรงดทำนาปรังรอบสอง
  ชลประทานพิจิตร เตือนย้ำเกษตรกรงดทำนารอบสอง หวั่นเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ หากฝืนปลูกอาจเสียหายหนัก เนื่องจากน้ำต้นทุนน้อย เตรียมนำตัวแทนเกษตรไปดูน้ำต้นทุนหากชาวนายังไม่หยุดทำนา
  ประเวศน์ ศิริศิลป์ ชลประทานพิจิตร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของจังหวัดพิจิตรว่า คาดว่าปัญหาขาดแคลนน้ำจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำต้นทุนในปี 2552/2553 ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือ เช่น เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนภูมิพล และแหล่งกักเก็บน้ำอย่างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ปีนี้ปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนำต้นทุนจากเดือนพฤศจิกายนจนถึงปัจจุบันนี้ ใช้น้ำไปแล้ว 47% เหลือน้ำต้นทุนที่จะสามารถใช้ได้เพียง 2,100 ล้านลูกบาศก์เมตร 
 ส่วนการระบายน้ำเพื่อใช้สอยตามระบบการจัดการน้ำวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากปล่อยติดต่อกัน 100 วัน น้ำที่สำหรับใช้ก็จะหมด ซึ่งในการบริหารจัดการน้ำนั้นไม่สามารถปล่อยน้ำทั้งหมดได้ จึงฝากเตือนพี่น้องประชาชนให้หยุดการทำนาปรังรอบสองเนื่องจากเหตุผลดังกล่าว
 ชลประทานพิจิตร กล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดพิจิตรมีเกษตรกรในระบบชลประธานลงมือเพราะปลูกแล้ว 3 แสนไร่ นอกระบบชลประธานอีก 5 หมื่นไร่ และมีแนวโน้มว่าจะทำนาเพิ่มขึ้น ซึ่งเราได้ย้ำเตือนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งหากการแจ้งเตือนยังไม่เป็นผลก็จะเชิญแกนนำของเกษตรกรเพื่อพาไปดูแหล่งน้ำต้นทุนให้เกษตรกรเห็นภาพว่าน้ำต้นทุนน้อยและไม่พอในการทำนาจริงๆ
สุรัตน์ อัตตะ








ข่าวที่เกี่ยวข้องหนังหายนะโลกร้อนการตื่นตัวของมวลชน...สู่แผ่นฟิล์มชาวสวนเฮปีหน้าลุ้นราคายางพุ่ง30%อ่าวไทยทำพลังงานลมดีที่สุด

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive