Friday, May 14, 2010

ต่อยอด สินธรสเต๊กเฮ้าส์ สู่ ภัตตาคาร ฮาลาลนานาชาติ

ต่อยอด สินธรสเต๊กเฮ้าส์ สู่
ภัตตาคาร ฮาลาลนานาชาติ





คมชัดลึก :






 หากผ่านย่านรามคำแหง จะเห็นร้านอาหารใหญ่ติดถนน เป็นที่นิยมของคนชื่นชอบสเต๊ก ภายใต้การบริหารของ "กิตติศักดิ์ (อิสมาแอล) บินซอและห์" ก่อนจะก้าวพ้นอุปสรรคสู่ความสำเร็จภายใต้แบนรด์ "สินธร สเต๊กเฮ้าส์" มีคนอีกจำนวนมากไม่รู้ว่าเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคอะไรบ้าง
 "อดีตครอบครัวผมมีอาชีพขายเขียงเนื้ออยู่ที่ตลาดพระโขนง กระทั่งตลาดได้วายลงในช่วงปี 2520 ก็เกิดตลาดใหม่ขึ้นคือตลาดบางกะปิ ผมจึงย้ายแผงมาอยู่ที่นี่" กิตติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท สินธร มีท ซัพพลาย จำกัด และผู้บริหารบริษัทสินธรสเต๊กเฮ้าส์ ย้อนอดีตธุรกิจให้ฟัง
 กิตติศักดิ์ บอกว่า ด้วยครอบครัวภรรยา "คุณโสภา รัตนภิบาล" มีฟาร์มวัวที่พระนครศรีอยุธยา ขณะที่เขาเป็นเมื่อหนุ่มทำงานเป็นบาร์เทนเนอร์ของโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งย่านราชประสงค์ กรุงเทพฯ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นได้เดินเข้าออกในครัวโรงแรม เรียนรู้ขั้นตอนการทำสเต๊กว่าเขาทำกันอย่างไร
 "ผมเริ่มนำเนื้อที่ขายในแผงของภรรยา ส่งขายให้โรงแรมที่ผมทำอยู่ เริ่มทำเป็นธุรกิจมากขึ้น ก่อนลาออกจากงานและเริ่มเป็นผู้ส่งเนื้อ (ซัพพลาย) อย่างเต็มตัว โดยเริ่มส่งให้ห้างฟู้ดแลนด์ สาขาพัฒนพงษ์เป็นที่แรก เมื่อปี 2527 จากนั้นเมื่อห้างฟู้ดแลนด์ขยายสาขาไปที่ไหนผมก็ตามส่งให้ด้วย ผมจึงเป็นมุสลิมคนแรกที่เป็นซัพพลายการทำเนื้อส่งมาโดยตลอด"
สู่ธุรกิจ "มีท ซัพพลาย" เต็มตัว กิตติศักดิ์บอกว่า หลังส่งเนื้อให้ห้างฟู้ดแลนด์แล้ว เขาเริ่มมองตลาดไปตามโรงแรมต่างๆ โดยพุ่งไปที่พัทยา มีลูกค้าที่เป็นโรงแรมดังหลายแห่ง จากนั้นก็ขยายตลาดไปยังภาคอีสาน โดยปักหลักที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ก่อนขยายลงมาที่เขาใหญ่ มวกเหล็ก ซึ่งร้านสเต๊กชื่อดังหลายแห่งเป็นลูกค้าของบริษัทเกือบทั้งหมด
 อดีตธุรกิจส่วนใหญ่ของเขาจะป้อนให้โรงแรมเป็นหลัก แต่เมื่อเปรียบเทียบความต้องการสินค้าระหว่างโรงแรมกับร้านอาหาร พบว่าร้านอาหารมากกว่าและมีวงจรการสั่งที่เร็วกว่า ทำให้หันมาทำธุรกิจกับร้านอาหารเป็นหลัก
 "ปี 2536 ร้านแรกที่ผมเข้าไปติดต่อเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อร้านโกเบ สาขาแรกอยู่ที่สยามสแควร์ เป็นร้านที่ฮิตมากที่สุดช่วงนั้น มีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่นและมีหุ้นส่วนเป็นคนไทย แต่หลังจากหุ้นส่วนมีปัญหากัน คนญี่ปุ่นก็แยกตัวมาเปิดกิจการเองชื่อร้านฟูจิ สาขาแรกอยู่ที่อาคาร ฟินิตี้ ชั้นใต้ดิน ผมก็ตามส่งเนื้อกับเขาอีก" กิตติศักดิ์ กล่าว
 ต่อมาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเริ่มขยายตัว และเป็นที่นิยมมาก เช่น ร้านโออิชิ สาขาแรกอยู่ที่ทองหล่อ และอีกหลายแห่ง เช่น ร้านซูกิชิ ฮอตพอร์ต ก็มาใช้บริการของเรา
จากวิกฤติสู่ "สินธรสเต๊กเฮ้าส์" กิตติศักดิ์บอกว่า ปี 2538 โรคแอนแทรกซ์เกิดระบาดทำให้ธุรกิจเนื้อถึงจุดที่ต่ำสุด คนไม่บริโภค ทำให้ธุรกิจหลักของเขาขายไม่ได้ จากเดิมที่เคยขายได้วันละกว่า 10 ตัว ต้องเหลือเพียง 2 วัน ต่อ 1 ตัวกว่าจะขายหมด
 "เรามีสต็อกเนื้อราวหมื่นกิโลกรัมที่อยู่ในห้องเย็น ทำให้ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด จึงมีไอเดียว่าเวลาไปส่งเนื้อที่เขาใหญ่ ก็จะซื้อดอกไม้ ดอกกุหลาบกลับมากรุงเทพฯ เพื่อหารายได้มาพยุงธุรกิจ โดยนำมาตกแต่งหน้าบ้าน" กิตติศักดิ์ เล่าพร้อมเสริมว่าบวกกับภรรยามีพรสวรรค์ด้านการตกแต่งอยู่แล้ว จึงทำควบคู่กับการส่งเนื้อไปด้วย
 กิตติศักดิ์บอกว่า ขณะนั้นปริมาณการส่งลดลงมาก เพราะคนกลัวโรคแอนแทรกซ์ ก็เลยงัดเอาตำราจากประสบการณ์ด้านโรงแรมลองผลิตเนื้อสเต๊กบรรจุใส่ถุงแช่ตู้เย็นขาย
 "เริ่มด้วยหมักเนื้อทีโบนไอโอร่า เปปเปอร์สเต๊ก และอีกหลายอย่างทำเป็นแพ็กขาย 3 แพ็ก 100 บาท เมื่อคนมาซื้อต้นไม้มาเห็นเนื้อที่แพ็กไว้ก็จะซื้อไปกิน บ้างก็ซื้อไปขาย วันหนึ่งมีเพื่อนที่เคยทำงานโรงแรมด้วยกันมาเยื่ยมบ้าน บอกลองเอาเครื่องเทศตัวนั้นตัวนี้มาผสมกัน โดยมีกุ๊กจากฝรั่งเศสมาช่วยด้วย ที่สุดจึงได้เป็นสูตรเฉพาะตัวของสินธรสเต๊กเฮ้าส์"
 กิตติศักดิ์บอกว่า หลังจากที่ปรับปรุงสูตรมาเรื่อย ทำให้เนื้อสเต๊กที่หมักและแพ็กขาย มีลูกค้าเพิ่มขึ้นมาก ขณะนั้นภรรยามีไอเดียที่จะเปิดร้ายขายสเต๊ก แต่ผมขอให้เขาสัญญาว่า ถ้าขายแล้วห้ามหยุด เพราะจากประสบการณ์เห็นว่าร้านมุสลิมขายไปหยุดไป พอลูกค้าจะมากินอีก วันนี้กลับไม่มี  ในที่สุดจึงตัดสินใจเปิดร้านขายสเต๊ก โดยเริ่มต้นที่หมู่บ้านสินธร ตลาดแฮปปี้แลนด์ ใช้ชื่อ "ร้านสินธร สเต๊กเฮ้าส์" เริ่มจากร้านเล็กๆ ขนาด 2 ห้อง ก่อนขยายเป็น 4 ห้อง จัดร้านสไตล์คันทรี เปิดมาได้ 2 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
 "ผมมีคติประจำตัวว่า ทำแล้วต้องทำให้ดี ถ้าไม่มีต้องไปหา แล้วอย่าใช้คำว่าจะ นอกจากนี้พันธสัญญาที่มีไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านคือ ร้านต้องเปิดทุกวัน อีกทั้งตั้งปณิธานว่ารายได้ส่วนหนึ่งจากการทำธุรกิจต้องนำกลับไปดูแลเด็กกำพร้าและบริจาคช่วยเหลือตามมัสยิดต่างๆตามความเหมาะสม"
ขยายกิจการสู่ "เนื้อย่างเกาหลี"  กิตติศักดิ์บอกว่า หลังกิจการสินธรสเต๊กเฮ้าส์ ตลาดแฮปปี้แลนด์ ได้รับการยอมรับจากลูกค้า ประกอบกับพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอต่อการรองรับลูกค้า จึงตัดสินใจย้ายร้านมาเช่าพื้นที่ภัตตาคารแวร์ซายน์เดิม บริเวณซอย 85-87 ถนนรามคำแหง ทำเป็นภัตตาคารระดับ 5 ดาว เมื่อปี 2548   ต่อมาปี 2550 ได้ขยายธุรกิจเปิดบริการขายอาหารบุฟเฟ่ต์เนื้อกระทะย่างเกาหลี บรรยากาศในสวนหน้าภัตตาคาร ซึ่งรองรับลูกค้าได้ถึง 600 คน นอกจากนี้ยังบริการอาหารฮาลาลนานาชาติ เมนูสเต๊กอเมริกัน อาหารฝรั่งเศส อิตาเลียน อาหรับ จีน ไทย และเตรียมขยายเป็นร้านอาหารซีฟู้ด วางคอนเซ็ปต์ว่า "ทะเลสินธร" เร็วๆ นี้
 "เราต้องการเป็นภัตตาคารของมุสลิมที่ดีที่สุด ให้บริการอาหารฮาลาลนานาชาติแก่ลูกค้าทุกระดับทั้งไทยและต่างชาติ พร้อมจัดที่ละหมาดไว้รองรับด้วย" กิตติศักดิ์ กล่าว
สูตรเปปเปอร์สเต๊ก เป็นสเต๊กที่ทำจากเนื้อสันในโคขุนคัดพิเศษ ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญดังนี้ ใช้ซอสบาบีคิวผสมเครื่องเทศไทย พริกไทยอ่อนๆ สดกับพริกสีดก หั่นเป็นลูกเต๋า เคล้ากับซอสบาบีคิวที่ปรุงพิเศษ
 นำไปราดบนเนื้อสเต๊กที่ย่างไฟอ่อนๆ จนได้ที่ กลิ่นจะหอม รสชาติกลมกล่อม โดยไม่ต้องหยิบเครื่องปรุงมาเติมอีกเลย
สูตรทีโบนไอโอร่า เป็นสเต๊กที่ทำจากเนื้อโคขุน ส่วน T B นำมาชิวเป็นเวลา 10 วัน แล้วนำมาตัดแต่งตามความต้องการในชิ้นเนื้อ นำมาหมักด้วยน้ำมันสลัด ซอสที่ราดประกอบด้วย ซอสบาบีคิวชีส นำเนื้อที่หมักไปย่าง แล้วราดซอส โรยชีสให้ทั่ว แล้วนำไปเข้าเตาสลาแมนเดอร์อบ จนชีสเหลือง
"เอกราช มูเก็ม"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive