Wednesday, April 14, 2010

บทเรียนจากต้นกล้าอาชีพ

บทเรียนจากต้นกล้าอาชีพ





คมชัดลึก :ตอนนี้ผู้ที่เข้าร่วม "โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน" หรือ "โครงการต้นกล้าอาชีพ" ชุดแรกที่เริ่มเข้าอบรมเมื่อเดือนเมษายน 2552 นั้นเวลาก็จะครบ 1 ปีแล้ว และรุ่นสุดท้ายที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เวลาผ่านไป 4 เดือนครึ่งพอดี







  โครงการนี้เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 ที่อนุมัติงบประมาณ 6,900 ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการฝึกอาชีพให้ผู้ว่างงานภายใต้โครงการต้นกล้าอาชีพ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงปีแรกระยะเวลา 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.52) กำหนดผู้ว่างงานเข้าฝึกอบรม 2.4 แสนคน ช่วงที่สองในปี 2553 สำหรับผู้ว่างงานในจำนวนที่เหลืออยู่  2.6 แสนคน มีหลักสูตรวิชาชีพให้เลือก 935 หลักสูตร จาก 7 ประเภท คือการเกษตรและการแปรรูป ภาคการผลิต การบริการและการท่องเที่ยว การค้าและเศรษฐกิจพอเพียง คอมพิวเตอร์และธุรการ การคมนาคมและการขนส่ง และประเภทการก่อสร้าง
 ตอนนั้นคนตกงานเป็นล้านคนครับ รัฐบาลคาดการณ์ว่า จะรองรับผู้ว่างงานจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มตกต่ำตามวิกฤติเศรษกิจโลกมาตั้งแต่ปี 2551 และรองรับผู้ที่จบการศึกษาได้ถึง 5 แสนคน
 ผลการดำเนินการจริง ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการบริหารโครงการต้นกล้าอาชีพ อวดนักอวดหนาว่า สิ้นสุดโครงการตามที่กำหนดที่เริ่มต้นเดือนเมษายนสิ้นสุดกันยายน 2552 นั้น เหลือเงินอีกกว่า 1,000 ล้านบาท จึงต่อเฟสแรกอีก 2 รุ่นถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552
  รวมแล้วผู้ที่ว่างงานเข้าอบรมทั้งหมดของระยะแรกกว่า  3 แสนคน จากกำหนดเดิม 2.4 แสนคน ส่วนระยะที่สองรัฐบาลพับโครงการ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คนว่างงานลดลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง
 หากมองอย่างผิวเผินดูแล้วดี ดำเนินการระยะแรกเงินเหลืออื้อ สามารถต่อได้อีก 2 รุ่น คนว่างงานเข้าอบรมเกินเป้า  แต่ถ้ามองอย่างพินิจพิจารณา โครงการต้นกล้าอาชีพล้มเหลวครับ
            เป็นการล้มเหลวที่ขาดการวางแผนอย่างรอบคอบ รีบเร่งจนเกินไป คณะทำงานวางแผนไม่ทัน  มติ ครม.วันที่ 13 มกราคม 2552 ให้ดำเนินการทันทีในเดือนเมษายน 2552 แค่ 2 เดือนเท่านั้น
 ไม่ต้องเลียนแบบรัฐบาลอื่นหรอกครับ ที่ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ช้านิดหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ผลที่ได้ต้องคุ้มค่า ต้องวางแผนก่อนว่า หลักสูตรที่เปิดสอนนั้นเหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่หรือไม่ เมื่ออบรมเสร็จ ผู้เข้าอบรมสามารถผลิตสินค้าได้ มีตลาดรองรับที่ไหน หลายท่านบอกว่าที่เรียนไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย
 ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็น อย่างหลักสูตรการแปรรูปวัตถุดิบจากน้ำยางธรรมชาติ ไปเปิดสอนที่เชียงใหม่ รุ่นแรกอบรมจบตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา ปรากฏว่า หาวัตถุดิบยากครับ ต้องสั่งมาจากภาคตะวันออกหรือภาคใต้ ผลิตแล้วไม่รู้ขายให้ใคร พอขายได้น้อยสั่งวัตถุดิบก็ไม่มีใครส่งให้
 คราวนี้เป็นบทเรียน ต่อไปต้องรอบคอบ งบประมาณเป็นภาษีของประชาชน ไม่ใช้น้ำพริก ที่จะไปละลายในแม่น้ำได้!   ต่างโดยสิ้นเชิงครับกับการสนับสนุนให้ชุมชนผลิตสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่รัฐบาลหาตลาดให้ งานโอท็อปให้ชุมชนมีที่ระบายสินค้าได้บ้าง
"ดลมนัส  กาเจ"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive