Wednesday, April 14, 2010

เพิ่มมูลค่าขี้ไก่เป็นพลังงานไฟฟ้า วิธีลดต้นทุนมลภาวะทองใบฟาร์ม

เพิ่มมูลค่าขี้ไก่เป็นพลังงานไฟฟ้า
วิธีลดต้นทุนมลภาวะทองใบฟาร์ม





คมชัดลึก :การบำบัดของเสียด้วยระบบไบโอแก๊ส เป็นทางออกที่ผู้ประกอบการเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เลือกใช้ในปัจจุบัน ที่นอกจากจะสามารถแก้ปัญหากลิ่นเหม็นและลดสัตว์พาหะอย่างแมลงวัน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้แล้ว ยังมีผลพลอยได้ด้วยการนำแก๊สชีวภาพไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ทั้งระบบอีกด้วย







  ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ "ทองใบฟาร์ม" ตั้งอยู่เลขที่ 2/2 หมู่ 3 ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี จึงเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของภาคปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยไปกว่าการใส่ใจในการผลิตไข่ไก่ให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อผู้บริโภค ภายใต้การบริหารงานของเกษตรกรผู้มองการณ์ไกลอย่าง เสาวลักษณ์ เหลืองเรณู ที่เห็นว่าการจะประสบความสำเร็จในโลกปศุสัตว์นี้ได้อย่างยั่งยืน นอกจากระบบการเลี้ยงที่มีมาตรฐานและทันสมัยแล้ว การบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือกรีนฟาร์ม ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้
  แม้จะรู้ว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่เธอกลับมองผ่านอุปสรรคนี้ไป เพราะเห็นถึงความสำเร็จจากผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนครั้งนี้ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาปรับใช้ที่ ทองใบฟาร์ม ในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่แก่เกษตรกรรายย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยมีบริษัทให้การสนับสนุนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีวิชาการที่เหมาะสมสู่เกษตรกร เพื่อผลักดันให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ฟาร์มไก่ไข่ขนาด 6.2 หมื่นตัวแห่งนี้ เลือกใช้ระบบการเลี้ยงแบบอัตโนมัติทั้งหมด เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับบริษัท โดยเลี้ยงไก่ในระบบปิด ปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแว้ป (Evaporative Cooling System) ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม แม่ไก่จึงอยู่สบาย ไม่เครียด สุขภาพแข็งแรง ส่งผลให้มีผลผลิตไข่ไก่ที่ดี นอกจากนั้น ยังใช้ระบบการให้อาหารและการเก็บไข่อัตโนมัติ  และการกวาดมูลไก่โดยใช้ระบบสายพาน โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยของสัตว์และความสะอาดโรงเรือนเป็นหลัก 
 “ยอมรับว่าการลงทุนทำระบบการเลี้ยงทันสมัยใช้เงินค่อนข้างสูง แต่เรามองว่าสิ่งที่จะได้มาหลังจากนั้นมันคุ้มเกินคุ้ม การพัฒนาระบบการเลี้ยงที่มีมาตรฐานอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องคำนึงว่าอาชีพของเราต้องไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน เราจึงนำระบบไบโอแก๊สมาใช้ในฟาร์ม เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนแล้ว ยังมีผลพลอยได้คือแก๊สชีวภาพนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย" เสาวลักษณ์เผย
 เสาวลักษณ์เผยอีกว่า ระบบไบโอแก๊สของทองใบฟาร์ม เป็นแบบปลั๊กโฟลว์ (plug flow) ขนาด 1,000  คิว โดยของเสียจากการเลี้ยงไก่ทั้งหมดจะถูกส่งผ่านเข้าไปยังระบบบำบัด และจะเกิดการหมักขึ้นในบ่อแก๊สชีวภาพ เมื่อการหมักสมบูรณ์จะได้แก๊สชีวภาพ ที่นำไปผ่านเครื่องปั่นไฟ (generator) ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าจากเดิมที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 6 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.5-1.6 หมื่นบาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังต่อยอดความคิดที่เริ่มต้นจากความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจากมูลไก่ไข่ หลังการบำบัดในระบบไบโอแก๊ส ที่วันนี้กลายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เดือนละมากกว่า 1 แสนบาท วันนี้มูลไก่ที่เคยไร้ค่าและถูกมองว่าเป็นปัญหาต่อสังคม ได้กลับกลายเป็นสิ่งล้ำค่าจนแทบจะเรียกว่าของเสียไม่ได้อีกแล้ว เพราะได้ถูกนำมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า ที่นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและช่วยลดมลภาวะแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันอีกด้วย      "สุรัตน์ อัตตะ"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive