Saturday, May 1, 2010

ที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์ ผลิตภัณฑ์ในชุมชนส่งขายทั่วไทย

ที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์
ผลิตภัณฑ์ในชุมชนส่งขายทั่วไทย




คมชัดลึก :จากประสบการณ์ที่เคยพบเห็นที่ตากผ้าทำจากพลาสติกแบบวงกลมที่วางขายตามแผงทั่วไป ทำให้ประธานกลุ่มวังใหญ่พัฒนาอาชีพ วัย 40 ปี "ศราวุฒิ ใจปราณี" ได้ความคิดว่า น่าจะมาดัดแปลงรูปทรงที่ใช้ประโยชน์ดีกว่า มีความคงทนกว่า จึงตัดสินใจรวบรวมคนในชุมชนซอยกรุงเทพกรีฑา 21 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ ตั้ง "กลุ่มวังใหญ่พัฒนาอาชีพ" มาฝึกทำ "ที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์" ปรากฏว่าขายดี จนปัจจุบันผลิตไม่ทันความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดสำเพ็งรับไม่อั้น ขณะลูกค้าอื่นๆ ทั่วประเทศ แม้กระทั่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สั่งออเดอร์ไม่ขาดระยะ







  ศราวุฒิบอกว่า ก่อนจะมาผลิตที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์นั้น ครอบครัวของภรรยาในซอยกรุงเทพกรีฑา 21 มีอาชีพปักผ้าลายดอกส่งขายที่ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ระหว่างที่เขาไปส่งผ้าที่ประตูน้ำมักจะถือโอกาสเดินดูสินค้าต่างๆ กระทั่งไปเห็นที่ตากผ้าอเนกประสงค์ เป็นรูปทรงวงกลม ทำด้วยพลาสติก จึงมาคิดว่า น่าจะทำกับวัสดุอย่างอื่นที่มีความทนทานกว่า และดัดแปลงรูปทรงให้ดูดีขึ้นกว่าที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป
 "ผมกลับมานึกดูว่า ที่ตากผ้าอเนกประสงค์ใช้พื้นที่ตากผ้าน้อยมาก น่าสนใจ มานึกดูควรจะทำจากวัสดุประเภทใดที่คงทน ดัดรูปทรงง่าย จึงนึกได้ว่าน่าจะเป็นอะลูมิเนียมดีที่สุด เพราะดัดง่าย ทนทาน ไม่ขึ้นสนิม จากนั้นไปซื้ออะลูมิเนียมที่สำเพ็ง มาคิดรูปแบบที่ไม่มีใครเหมือน โดยดัดแปลงแบบจากที่เคยเห็น จากนำไม้ ตะปูทำเป็นที่ดัดลวดอะลูมิเนียมเอง ใช้เวลาว่างลองผิดลองถูกเป็นปี พอได้รูปทรงออกมาจึงนำมาใช้เอง คนในชุมชนเห็นเกิดความสนใจ เพราะใช้พื้นที่น้อย ตากผ้าได้ 32 ชิ้น ผมเลยชวนคนในชุมชนตั้งกลุ่ม โดยมีบรรดาครูสอนศาสนาอิสลามมาร่วมกลุ่ม 7-8 คน ตั้งกลุ่มวังใหญ่พัฒนาอาชีพ เพื่อประดิษฐ์ที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์ขึ้นมาในปี 2538" ศราวุฒิ กล่าว
 ช่วงแรกที่ลงมือผลิต ศราวุฒิบอกว่า ยังไม่ได้ศึกษาตลาดเท่าไรนัก คิดเพียงว่า ถ้าสวย ใช้ได้ดี ขายตามตลาดนัดต้องมีคนซื้อ พอทำออกมาช่วงแรกขายในชุมชนก่อน และให้สมาชิกไปขายตามตลาดนัดบางกะปิ ตลาดนัดสุวรรณภูมิ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับในระดับที่ดี กระทั่งได้รับการคัดสรรให้เป็นสินค้าโอท็อประดับ 3 ดาวของกรุงเทพมหานคร มีโอกาสออกบูธในงานแสดงสินค้าโอท็อป ทั้งที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และตามเขตต่างๆ ที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นมา ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์ของกลุ่มวังใหญ่พัฒนาอาชีพเป็นที่รู้จักของทั่วไป และมีออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก
 "ตลาดของเราแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ขายส่ง 80% เราขายเองทั้งที่บ้าน และตามตลาดอีก 20% พูดถึงขายส่งอย่างที่สำเพ็งมีเท่าไรก็รับหมด แต่เราต้องแบ่งให้ลูกค้ารายอื่นบ้าง เพราะสั่งมาทั่วประเทศ แม้กระทั่งที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาสก็มี ขณะเดียวกันการขายปลีกที่บ้านก็ต้องมีบ้าง เพราะขายปลีกราคาดีกว่า สมาชิกเราอยากมีรายได้ก็ต้องแบ่งให้สมาชิกไปขายตามตลาดนัดด้วย เรื่องของตลาดเราไม่ห่วง ที่ห่วงคือผลิตไม่ทัน ขาดแรงงานที่มีฝีมือ คนรุ่นใหม่ไปทำงานตามห้าง บริษัท และโรงงาน ทุกวันนี้ต้องอาศัยเด็กนักเรียนในชุมชนทำวันหยุด แต่เด็กที่รับจ้างดัดลวดอะลูมิเนียมพอได้เงินวันละ 300-400 บาทก็เลิกแล้ว วันหลังจึงมาทำอีก" ศราวุฒิกล่าว
 ที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์มีลักษณะเป็นที่ตากผ้ารูปทรงคล้ายครึ่งวงกลม หรือฉัตร มี 2 ขนาด คือขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 16 นิ้ว ติดตัวหนีบรอบๆ ได้ 32 ตัว ตากผ้าได้ 32 ชิ้น ขายปลีกในราคาชุดละ 180 บาท ขายส่งโหลละ 1,800 บาท ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว มีตัวหนีบ 18 ตัว สามารถตากผ้าขนาดเล็ก อาทิ กางเกงใน ยกทรง ผ้าเช็ดหน้า ถุงเท้า ผ้าอ้อมเด็กเล็กได้ 18 ชิ้น ขายในราคาชุดละ 120 บาท ขายส่งโหลละ 1,150 บาท ส่วนขนาดใหญ่ หากสั่ง 1 โหลในเขตใกล้เคียงกลุ่มจะส่งให้ฟรี ถ้า 10 โหลขึ้นไปส่งให้ถึงที่ทั่วกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดส่งทางไปรษณีย์เป็นหลัก
 "ทุกวันนี้กำลังผลิตของเราได้เพียงวันละ 20 โหลเท่านั้น ผมพยายามจะหาคนในชุมชน เพื่อผลิตป้อนตลาดที่ยังต้องการอีกมาก เพราะใช้ง่าย มีความทนทานมาก อย่างของผมทำตั้งยุคแรกๆ เมื่อปี 2538 ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ จะเสียงบ้างคือตัวหนีบ เราสามารถหาซื้อในท้องตลาดมาติดเองได้ นอกจากใช้พื้นที่ไม่มาก แต่ตากผ้าได้ถึง 32 ตัว หากแขวน 2 ชั้น ก็เพิ่มปริมาณของผ้าอีกเท่าตัว ใช้เสร็จเก็บง่าย วางตรงไหนก็ได้" ศราวุฒิกล่าวถึงสรรพคุณในการใช้งาน
 ก็นับเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนตัวอย่างอีกชุมชน ที่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในด้านการตลาด ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์ของกลุ่มวังใหญ่พัฒนาอาชีพ มีเท่าไรตลาดรองรับได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในสำเพ็งแห่งเดียวก็ผลิตไม่ทันแล้ว หากสนใจสอบถามได้ที่ 0-2736-0017    ไม่ง่ายกว่าจะได้ที่ตากผ้าอเนกประสงค์ ขั้นตอนการผลิตที่ตากผ้าอะลูมิเนียมอเนกประสงค์ แม้จะเป็นงานทำด้วยมือ แต่ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะมีหลายขั้นตอน
 1.จัดหาซื้อลวดอะลูมิเนียม ซึ่งมีขายตามท้องตลาด โดยเฉพาะที่ตลาดสำเพ็ง ขนาดแล้วแต่ต้องการ
 2.นำลวดอะลูมิเนียมมาตัดเป็นท่อน ส่วนหนึ่งทำเป็นวงกลม 3 ขนาด สุดแต่จะทำให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไร วงล่างสุดเป็นวงใหญ่สุด สำหรับติดตัวหนีบ วงรองลงมาใช้สำหรับให้ลวดเชื่อมระหว่างวงยึดเกาะของวงใหญ่หรือวงล่างสุด ถัดมาเป็นขนาดเล็ก ใช้สำหรับให้ลวดเชื่อมระหว่างวงที่สอง ยึดเกาะ และที่ยึดของตะขอด้วย จากนั้นนำลวดอะลูมิเนียมทั้ง 3 ขนาด มาดัดทำเป็นวงกลมรอบๆ เพื่อใช้เป็นที่เกี่ยวของลวดเชื่อมแต่ละวง
 3.ตัดลวดอะลูมิเนียมที่จะทำสายยึดเกาะของลวดวงกลมทั้ง 3 ชั้น ขนาดแล้วแต่ต้องการว่าลวดวงกลมแต่ละชั้นจะห่างเท่าไร จากนั้นดัดลวดอะลูมิเนียมให้เป็นเกลียวเพื่อความสวยงาม เป็นตัวเชื่อมของลวดวงกลมทั้ง 3 ชั้น
 4. ตัดลวดอะลูมิเนียมทำเป็นตะขอคล้ายกับตะขอกรงนก  5.นำมาประกอบชิ้นส่วนให้เป็นรูปทรง ติดตะขอด้านบนสุด และตัวหนีบ ซึ่งหาซื้อตามท้องตลาดทั่วไปติดรอบๆ ของลวดวงกลมใหญ่สุดที่อยู่ด้านล่างสุด เสร็จแล้วนำไปใช้ได้แล้ว
" ดลมนัส  กาเจ"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive