Tuesday, January 22, 2013

วิกฤติอัสสัมชัญ บางรัก

วิกฤติอัสสัมชัญ บางรัก
               จากกระแสข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวคราวของโรงเรียนที่มีอายุยาวนาน 120 กว่าปี มีศิษย์เก่าจวบจนศิษย์ปัจจุบัน 127 รุ่น นามว่า “โรงเรียนอัสสัมชัญ” โรงเรียนชายล้วนที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศไทย จะมีประเด็นทางสังคมที่ถูกตีแผ่ถึงความคลุมเครือในหลากหลายเรื่อง โดยเริ่มต้นจากครูระดับประถมศึกษาแต่งชุดดำถ่ายรูปกับป้ายโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถมศึกษา ซอยเซนต์หลุยส์ ที่ทราบกันภายในว่าจะมีการยุบรวมกับโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกมัธยม เขตบางรัก กทม.                 ทว่าที่กลายเป็นข่าวครึกโครมกระจายสู่สังคมภายนอก เมื่อ “หมอนิด" กิจจา ทวีกุลกิจ โพสต์เรื่องราวของครูแต่งชุดดำในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ครู ต่อด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เขียนในผู้จัดการรายสัปดาห์ ถึงปัญหา ข้อเรียกร้องต่างๆ ของครู ผู้ปกครอง และขอให้ทางโรงเรียนออกมาชี้แจง ขณะที่ในเว็บไซต์พันทิป เฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียต่างๆ มีการตั้งกระทู้และมีผู้แสดงความคิดเห็นคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ อย่างหนักในกลุ่มของศิษย์เก่า โดยเฉพาะเรื่องการยุบรวม โรงเรียนบังคับให้ครูเซ็นใบลาออกล่วงหน้า ถ้าครูคนไหนไม่ยอมเซ็นใบลาออกจะถูกให้ออก พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้ การไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่ครู รวมถึงการจะขายพื้นที่เซนต์หลุยส์ และย้ายนักเรียนไปพระราม 2                 "อัสสัมชัญ" กลายเป็นประเด็นร้อน หลากหลายความคิดเห็น “นสพ.คม ชัด ลึก” จึงได้ลงพื้นที่เสาะหาข้อเท็จจริง พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง “ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน” ในฐานะนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอัสสัมชัญ อดีตศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ที่ได้รับข้อเรียกร้องจากครู ผู้ปกครอง ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการยุบรวมของโรงเรียน เพราะต่อให้ชื่อเหมือนกัน มีผู้อำนวยการ ภราดา ดร.อานันท์ ปรีชาวุฒิ ในการบริหารงานคนเดียวกัน ทว่าในการบริหารจัดการกลับแตกต่าง ตามตราสาร บริบทของโรงเรียน                 “ตอนนี้โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก มีนักเรียน 5,000 คน มีครู 500 คน ยังไม่มีครูสักคนเซ็นใบลาออก เพราะครูบางคนที่ทำงานอยู่เป็นครูก่อนที่ พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2542 จะออกมา และไม่ได้จบครู แต่พวกเขาสอนมายาวนาน มีประสบการณ์และความชำนาญในวิชาชีพ ถ้าพวกเขาเซ็นลาออกอาจจะไปเป็นครูอีกไม่ได้ อีกทั้งที่ผ่านมา แม้ทางประธานมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยจะได้มาพูดคุยทำความเข้าใจกับครูเรื่องของการยุบรวม แต่ไม่มีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งต่อให้มีลายลักษณ์อักษรครูก็ไม่มั่นใจว่าจะทำตามที่ระบุมาในลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ก่อนหน้านี้ก็มีประกาศมูลนิธิ เรื่องปรับขึ้นเงินเดือนครูเป็นลายลักษณ์อักษร ยังไม่ปรับเงินเดือนให้ครู ทั้งที่โรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิ 10 กว่าแห่ง ปรับเงินเดือนให้ครู ยกเว้นโรงเรียนอัสสัมชัญ” ศ.ดร.เกื้อกล่าว                 หลังจาก "นสพ.คม ชัด ลึก" ได้ตีแผ่ความจริง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า “เกิดอะไรขึ้นกับอัสสัมชัญ” โรงเรียนสร้างขึ้นโดยบาทหลวง เป็นโรงเรียนศาสนา แล้วทำไมถึงเกิดความขัดแย้งภายใน ความไม่เป็นธรรมแก่ครู เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ภราดา ดร.ศิริชัย ฟอนซีกา ประธานมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งโรงเรียน พร้อมด้วย ภราดา ดร.อานันท์ แถลงข่าว ปฏิเสธการยุบรวม และชี้แจงทุกประเด็น                 “มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลขอยืนยันการไม่ยุบโรงเรียนประถม และไม่มีการเลิกจ้างครู ไม่มีการบังคับให้ครูเขียนใบลาออกตามที่เป็นข่าว ครูผู้สอนในระดับประถมยังสอนนักเรียนแต่ละรุ่นที่โรงเรียนรับเข้ามาเป็นนักเรียนอยู่ในสถานที่เดิม(สาทร) สภาพความผูกพันต่อมูลนิธิ ครูจะได้รับการดูแลจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับการบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญทันทีเมื่อสมัครใจโอนเข้าเป็นครูของโรงเรียนอัสสัมชัญหรือหลังการควบรวมมีผลตามกฎหมายแล้ว และรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดิม รวมถึงการนับอายุการปฏิบัติงานต่อเนื่อง และตามกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ทุกประการ” ภราดา ดร.ศิริชัยยืนยัน                 ขณะที่ ภราดา ดร.อานันท์ กล่าวชัดเจนถึงการปรับเงินเดือนครูว่า ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน(สช.) ทางโรงเรียนจะต้องปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่บุคลากรทางการศึกษา ระดับปริญญาตรี ให้เพิ่มเป็น 11,680 บาท แต่ครู 450 คนของโรงเรียนอัสสัมชัญ ไม่มีใครได้เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ดังนั้น จึงไม่ต้องปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครู                 คำแถลงข่าวของผู้ถือใบอนุญาตจัดตั้ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ในเรื่องการยุบรวมได้ไขข้อข้องใจ สร้างความชัดเจนให้แก่ครูมากขึ้น ทว่าเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ อย่าง การปรับขึ้นเงินเดือน ยังคงคลุมเครือ ไม่ได้ข้อสรุป เมื่อผู้อำนวยโรงเรียนยังไม่ได้ประกาศว่าทางมูลนิธิได้ตีความคำว่าบุคลากรทางการศึกษานั้น หมายรวมถึงครูด้วยหรือไม่ เพราะสาเหตุหลักๆ ที่ ผอ.ไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้ครู เพราะประกาศของมูลนิธิขึ้นเงินเดือนให้แก่บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นครู ดังนั้นจะขึ้นหรือไม่ขึ้นเงินเดือนให้ครู ต้องรอให้ทางมูลนิธิตีความ ณ ขณะนี้ ครูยังไม่ได้คำตอบ ไม่ทราบได้ว่า อนาคตเงินเดือนของตนเองจะเป็นเช่นไร????                 ครูมัธยมศึกษา ร.ร.อัสสัมชัญ รายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 จากคำชี้แจงของผู้อำนวยการโรงเรียนเกี่ยวกับการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครูแล้วนั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ครูอัสสัมชัญไม่มีใครได้ปรับเพิ่มเงินเดือน และเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ต่อให้ได้รับสวัสดิการ ค่าครองชีพต่างๆ แล้วก็ตาม                 "อย่างในส่วนของครูระดับปริญญาตรี จบใหม่เงินเดือนที่ได้รับ ฐานเงินเดือนประมาณ 9,140 บาท ซึ่งเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ประกาศให้ปรับเงินเดือนครูเพิ่มเป็น 11,680 บาท ทางโรงเรียนก็ไม่ได้ปรับเพิ่มแต่อย่างไร ผมในฐานะที่เป็นครูที่นี้มา 27 ปี ได้เงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท เพราะได้รับการดูแลดีจากผู้อำนวยการคนก่อนๆ แต่ไม่ใช่กับผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ท่านมีสวัสดิการให้ครู แต่ไม่ปรับฐานเงินเดือนให้ครู แถมบางปีมีการตัด ปรับลด ค่าครองชีพครูอีกด้วย" ครูมัธยมศึกษา ร.ร.อัสสัมชัญ รายเดิม กล่าว                 ดูเหมือนว่า ปัญหาใหญ่ที่ยังคงยืดเยื้อ หาบทสรุปไม่ได้ และก่อให้เกิดคำถามต่อความรู้สึกของครู ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า "อัสสัมชัญ" รวมถึงประชาชนคนทั่วไปในสังคมไทย คงไม่อยู่ที่ยุบรวมประถม และมัธยม แต่กลายเป็นเรื่องของ “สวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ของครู  แม่พิมพ์ของชาติ” ที่ยังหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ ตราบใดที่ครูอัสสัมชัญยังรู้สึกว่า "ไม่ได้รับความเป็นธรรม"   .................................................. (วิกฤติ'อัสสัมชัญ บางรัก'อุ้มชูครู...จริงหรือ? : โดย...ทีมการศึกษา)

No comments:

Post a Comment

Blog Archive