Tuesday, January 22, 2013

จับยาแผนโบราณเสริมพลังเซ็กส์

จับยาแผนโบราณเสริมพลังเซ็กส์
             เมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ ผกก.4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.กัมพล วงษ์สงวน สว.กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมยาแผนโบราณโฆษณาหลอกลวงสรรพคุณทางเพศ              นพ.บุญชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม  อย. ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ เลขที่ 16/17 หมู่ 7 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมี นายธนัท เชี่ยวชาญอักษร เป็นเจ้าของ พบการผลิตยาแผนโบราณที่มีฉลากไม่ตรงตามทะเบียนตำรับ หลายรายการ ได้แก่ ยาแคปซูลสมุนไพร หยิ่นปังปัง เจียวหนัง ทะเบียนยาเลขที่ G609/54 เป็นสมุนไพรสำหรับผู้ชาย ฉลากระบุสรรพคุณ เช่น เสริมสมรรถภาพทางเพศ และยาอายุวัฒนะ แต่ฉลากระบุไม่ตรงตามที่ขอขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ และยังพบฟอยล์สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ WELL 101 ฉลากระบุเลขทะเบียนยาแผนโบราณ G580/54 ซึ่งเป็นเลขทะเบียนของยาตำรับอื่น แต่เมื่อตรวจสอบภายหลังพบว่าผลิตภัณฑ์ WELL 101 เพิ่งได้รับการจดทะเบียนอาหารเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางเพื่อดำเนินคดีต่อไป มูลค่าของกลางที่ยึดได้กว่า 1.5 ล้านบาท              นอกจากนี้ พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ลักษณะเป็นครีมขัดผิว และเจลทำความสะอาดผิว ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มีฉลากภาษาไทย และเป็นเครื่องสำอางควบคุมที่ไม่ได้จดแจ้ง ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ Enzyme Collagen Peeling Cleanser และกล่องบรรจุภัณฑ์ Enzyme Collagen Peeling c จำนวน 6,500 ชิ้น รวมมูลค่าประมาณ 975,000 บาท รวมมูลค่าของกลางทั้งสิ้น 2,475,000 บาท              นพ.บุญชัยกล่าวอีกว่า การเข้าจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องจาก อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทางเคเบิลทีวี จึงทำการล่อซื้อและส่งยา WELL 101 ไปตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีส่วนผสมของยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น ยี่ห้อซิเดกร้าขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) และยี่ห้อไวอากร้า              นพ.บุญชัยกล่าวด้วยว่า ยาแผนโบราณ WELL 101 ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เพราะเลขทะเบียน G 580/54 เป็นเลขทะเบียนตำรับยาของยาสามัญประจำบ้าน ชนิดยาขี้ผึ้ง รวมทั้งสถานที่ผลิตคนละแห่งกับที่แจ้งบนฉลาก  อีกทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนัทเฮิร์บ ได้รับอนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณ แต่ไม่พบการขออนุญาตผลิตยา WELL 101 และสถานที่ผลิตยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตยาแผนปัจจุบัน              “ตามปกติยาซิลเดนาฟิลจะไม่ให้รับประทานเกิน 1 เม็ดต่อวัน เพราะมีอันตรายต่อหัวใจ การที่ผสมทั้งยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบันตัวนี้ในแคปซูลเดียวกันและระบุฉลากไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ที่รับประทานได้รับยาไปในปริมาณเท่าไหร่ จึงมีอันตรายมากโดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เสียชีวิตได้” นพ.บุญชัยกล่าว              พ.ต.อ.ล้ำพันธุ์กล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา 1.ผลิตยาแผนโบราณ ใช้ฉลากและเอกสารกำกับยาไม่ตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท 2.ผลิตยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณต้องมีผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณเป็นผู้มีหน้าที่ ปฏิบัติการตามมาตรา 68 ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละ 100  บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง              4.ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 68 คือ ไม่ประจำอยู่ ณ สถานที่ผลิตยาตลอดเวลาที่เปิดทำการ มีโทษปรับตั้งแต่ 500-2,000 บาท 5.นำเข้าเครื่องสำอางโดยไม่ผ่านการจดแจ้งกับ อย. มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และ 6.ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำโดยประมาท มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท              ด้าน ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า อย.ได้สั่งปิดโรงงานดังกล่าวชั่วคราวเป็นเวลา 120 วัน จนกว่าจะมีการดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนการดำเนินการกับผู้โฆษณายาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านเคเบิลทีวีและอินเทอร์เน็ตนั้น อย.ได้รับเรื่องร้องเรียน 100 กรณีต่อเดือน และเฝ้าระวังโดย อย. 800- 1,000 กรณีต่อเดือน ซึ่งพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นโฆษณาผิดกฎหมายไม่ได้รับอนุญาตและอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ส่วนใหญ่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศและลดความอ้วน ในส่วนของเคเบิลที่มีความผิด อย.จะดำเนินคดีตามกฎหมาย หากยังพบความผิดซ้ำจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาการต่อใบอนุญาต สำหรับอินเทอร์เน็ตจะแจ้งเรื่องให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปิดเว็บไซต์ทันที

No comments:

Post a Comment

Blog Archive