Saturday, December 22, 2012

กษ.ชงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร รับมือภูมิอากาศโลกแปรปรวน

กษ.ชงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร รับมือภูมิอากาศโลกแปรปรวน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความเห็นชอบยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี พ.ศ. 2556–2559 หวังให้ภาคเกษตรปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสร้างความมั่นคงของฐานการผลิต... ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ธ.ค. 55 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ขอความเห็นชอบยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี พ.ศ. 2556–2559 ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ “สร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตรกร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคเกษตร สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสริมสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตร สร้างความมั่นคงของฐานการผลิต เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อให้ภาคเกษตรมีส่วนร่วมในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเหมาะสม เป็นธรรม บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรม และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาและจัดการองค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับตัวและการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อย และการเก็บกักก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ         นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนของสังคมกับสิ่งแวดล้อม ความเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และชุมชนเกษตรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความร่วมมือ ในการดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งกรอบความร่วมมือในประเทศและระหว่างประเทศ       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้ภาคเกษตรเพียงพอที่จะรักษาพื้นที่เกษตรและกำลังแรงงานในภาคเกษตรมากขึ้น เพื่อคงความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้ภาคเกษตรมีส่วนร่วมในการเก็บกัก และช่วยประชาคมโลกลดก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องความสามารถของเกษตรกร โดยการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งมีองค์ความรู้ มีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อการปรับตัว การสร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตรกร การลดการปล่อยและการเก็บกักก๊าซเรือนกระจกที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ และมีเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความสำเร็จ ความรู้ เทคโนโลยี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันในสังคม         สำหรับระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ.2556–2559) ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์มี 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มี 2 กลยุทธ์ คือ 1. เตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกัน 2. การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเก็บกักและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร มี 2 กลยุทธ์ คือ 1. การพัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้ก๊าซเรือนกระจก 2. ส่งเสริม สนับสนุนการปรับระบบการผลิตสู่เกษตรกรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร มี 5 กลยุทธ์ คือ 1. การพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 3. เพิ่มศักยภาพบุคลากร 4. พัฒนาการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 5. สร้างกลไกในการติดตาม ขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ          ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรฯ จะมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนภูมิอากาศ เกิดการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีระบบ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกษตรกรมีภูมิคุ้มกัน สามารถรองรับและบรรเทาปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเกษตรกรของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive