Saturday, December 8, 2012

สนองพระราชปรารภสมเด็จพระเทพฯ กรมศิลป์สร้างบานประตูมุกหอมณเฑียรธรรม

สนองพระราชปรารภสมเด็จพระเทพฯ กรมศิลป์สร้างบานประตูมุกหอมณเฑียรธรรม
กรมศิลป์สนองพระราชปรารภ สมเด็จพระเทพฯ จัดสร้างบานประตูมุก ติดตั้งหอมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระแก้ว เสร็จแล้ว เผยใช้ไม้สักทองทั้งแผ่น ส่วนเปลือกหอยโข่งมุกนำเข้าจากพม่า น้ำหนักถึง 1,300 กก. รวมเวลา 5 ปี…เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภให้กรมศิลปากรจัดสร้างบานประตูประดับมุก หอมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ขึ้นใหม่ จำนวน 1 ชุด เมื่อปี 2550 สมัยนายอารักษ์ สังหิตกุล ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยว่า หากปล่อยให้ตากแดด ตากละอองฝน จะทำให้ลวดลายประดับมุกและรักสมุกเสื่อมสภาพ จนเกิดความทรุดโทรมและเยาวชนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นมรดกความงดงามของชาติ โดยกรมศิลปากรได้รับสนองพระราชปรารภ จัดสร้างบานประตูมุกชุดใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำจากไม้สักทองทั้งแผ่น ขนาดความกว้าง 28 นิ้ว ยาว 143 นิ้ว หนา 3.5 นิ้ว ส่วนเปลือกหอยโข่งมุกที่ใช้ในการสร้างลายประดับมุกนี้ เนื่องจากปัจจุบันในประเทศมีจำนวนน้อยและหายากมาก จึงต้องจัดหาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มาใช้งานประดับมุก ปริมาณเปลือกที่นำมาใช้งานมีน้ำหนักประมาณถึง 1,300 กิโลกรัมอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า การดำเนินการจัดสร้างบานประตูมุกครั้งนี้ ใช้เวลาร่วม 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และแล้วเสร็จในปี 2555 โดยมี นายอำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน โดยมีการดำเนินงานที่มีความประณีต วิจิตรบรรจง และละเอียดมากที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการฉลุลวดลายใช้เวลานานถึง 3 ปี จากนั้นมีการประดับลวดลายมุกลงบนบานประตู โดยใช้กรรมวิธีและวัสดุแบบโบราณ คือใช้ยางรักเป็นตัวประสานพื้นและถมลาย ปล่อยให้แห้งสนิททีละชั้นจนเต็มทับตัวลาย เมื่อเต็มแล้วทำการขัดแต่งผิวหน้าลายด้วยกระดาษทรายน้ำจนเนื้อรักสมุกที่ทับบนตัวลายมุกออกหมด จนปรากฏลวดลายประดับมุกครบทั้งบาน รวมทั้งต้องมีการขัดมันผิวหน้าลาย โดยใช้ผงสมุกที่ได้จากเขากวาง (เขากวางแก่ นำมาเผาไฟจนเป็นถ่านสีขาว) มาบดละเอียดทาลงบนผิวเพื่อให้ปรากฏจุดที่ยังขัด ได้ไม่เรียบชัดเจน ช่างจะนำกระดาษทรายอย่างละเอียดมากๆ มาขัดจนเรียบ ใช้ยางรักน้ำเกลี้ยงชโลมทั่วผิวแล้วเช็ดถอนยางรักออก ขัดถูด้วยผ้าให้เกิดความร้อนผิวงานจะเงาเป็นมัน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7.5 ล้านบาท หลังจากนี้ตนจะทำรายงานกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึงการดำเนินงานดังกล่าว และประสานกับสำนักพระราชวัง เพื่อกำหนดฤกษ์การบวงสรวงในการติดตั้งบานประตู มุกบานใหม่ ส่วนบานประตูมุกเก่าจะนำไปบูรณะที่สำนักช่างสิบหมู่ ก่อนที่จะนำไปเก็บอนุรักษ์ไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ต่อไปนายอำพล กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินงานมีความประณีตทุกส่วนงาน ตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่นำมาใช้ ทั้งหาหอยโข่งมุก ซึ่งเป็นหอยชนิดหนึ่งที่มีความแวววาวในตัว จากนั้นต้องนำมาขัดหินปูนออก แล้วนำมาขัดเจียรให้มีขนาดบางได้ขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน รวมทั้งการจัดหาไม้สักทองนั้น ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยจัดหาจาก จ.เชียงใหม่ มาให้ โดยได้ไม้สักทั้งต้นให้ได้หุ่นบานประตูที่เป็นไม้แผ่นเดียวทั้งบาน นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมแบบลวดลายประดับมุก โดยได้คัดลอกแบบจากบานประตูมุกหอมณเฑียรธรรมบานเดิม และได้ภาพถ่ายลวดลายประดับมุกจากบานประตูประมณฑป วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี นำมาเป็นแบบเพื่อปรับแบบลายใช้งาน และให้มีรูปแบบใกล้เคียงกับลายโบราณในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ให้มากที่สุด  นายอำพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนลวดลายภายในบนประตูนั้น ใช้ลายกนกก้านขดประกอบเถาว์ลายที่ออกยอดลายเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ แต่ละชั้นมีภาพแสดงเรื่องราวของเทพเจ้าองค์ต่างๆ ไล่ระดับขึ้นไป ตั้งแต่ชั้นล่างสุดเป็นภาพท้าวเวสสุวรรณ ขึ้นไปอีกชั้นเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ถัดมาเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพรหมทรงหงส์ และส่วนยอดสุดเป็นรูปทรงบุษบก ภายในบรรจุเครื่องหมายอุณาโลม แทนความหมายคือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระเนตรดวงที่สามของพระอิศวร สำหรับบานตูประดับมุกที่อยู่ในหอมณเฑียรธรรมนั้น มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นบานประตูในพระอุโบสถของวัดบรมพุทธาราม โดยมีคำจารึกฉลุลายมุกเป็นตัวหนังสือสมัยอยุธยา ว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2295 เป็นบานประตูไม้ ที่ช่างโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาลงรักประดับลวดลายแบบอย่างสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้วยเปลือกหอยมุกไว้อย่างสวยงาม จากนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาได้ทำสงครามกับพม่า วัดดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง เมื่อเจ้าอาวาสวัดศาลาปูน มาพบเห็นก็ได้นำบานประตูมุกมาเก็บรักษาไว้ที่วัด จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดดังกล่าว ทรงเห็นว่าบานประตูมุกมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควรจะนำมาเก็บรักษาไว้ที่พระนครต่อมาได้เก็บไว้ในพิพิธภัณสถานแห่งชาติพระนคร จนเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2474 ได้มีการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า บานประตูมุกมีขนาดเหมาะสมที่จะนำมาไว้ที่หอมณเฑียรธรรม จึงได้นำมาประกอบเข้าไว้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าบานประตูมุก เป็นผลงานชิ้นเอกของชาติไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันด้วย.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive