Sunday, December 30, 2012

สร้างภูมิคุ้มกันรับมือ AEC

สร้างภูมิคุ้มกันรับมือ AEC
สแกนแนวคิด เด็กมอ มองประเทศไทย พร้อม-ไม่พร้อม สู่ประชาคมอาเซียนอีกเพียง 2 วันก็จะนับถอยหลังอำลา “ปีมังกรทอง” เข้าสู่ปฏิทินใหม่ “ปีมะเส็ง–งูเล็ก” ที่หนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัย คงเตรียมเฮ ลั้ลลา กับสิ่งดีๆ ที่กำลังจะเริ่มนับหนึ่งใหม่แต่หากจะย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ ปีมังกรทอง หรือ งูใหญ่ ที่ผ่านมา คงมีหลากหลายประเด็นที่ชวนให้ แฮปปี้ หรืออย่างกรณี “น้องน้ำ” ที่ใครๆหวาดผวาจะเป็น ปัญหา และภาวนา “อย่ามาให้เจอ...อีกเลย” ก็แคล้วคลาดไปได้ในหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะกรุงเทพฯขณะที่อีกเรื่อง ฮอต ในรอบปี 2555 ที่ถูกหยิบยกมา เม้าท์มอย กันในทุกวงการอย่างไม่ขาดสาย และยังคงเป็นประเด็นเด็ดที่น่าจะยังไม่เลิก จ้อ กันต่อในปีหน้านั่นคือ เรื่องของการเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asean Economic Community) ในปี 2558ยิ่งภายในรั้วมหาวิทยาลัย งานนี้ถูก จับตา และยกให้เป็น พระเอก ในการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนที่จะรับมือกับการร่วมวงเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างมีคุณภาพทีมสกู๊ปมหาวิทยาลัย เลยขอ สุมหัว และ แท็กทีม เดินสายสู่ประตูรั้วอุดมศึกษา หยิบยก AEC มาเป็นโจทย์ตั้งวงถกกับ นิสิตนักศึกษาวัยทีน ก่อนอำลาปี 2555เริ่มที่หนุ่มน้อย หน้าใส สรวิชญ์ เตชะวิเชียร “โจอี้” ปี 1 คณะวิทย์ รั้วจามจุรี ชี้เปรี้ยงว่า “การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศ อาเซียนน่าจะส่งผลดีให้กับประเทศไทยและประเทศสมาชิก เพราะจะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งด้านต่างๆ ในการต่อรองหรือเพิ่มความได้เปรียบให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกมากกว่าการไม่รวมกลุ่ม และขณะนี้จะเห็นความกระตือรือร้นรับมือทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ รวมถึงการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม หากเทียบระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนด้วยกัน สำหรับประเทศไทยนั้นผมยังมองว่าเราอาจจะด้อยในเรื่องของภาษา เพราะแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา ลาวยังหันมาเรียนรู้ภาษาไทย นอกเหนือจากภาษาของตัวเองและภาษาอังกฤษ ขณะที่คนไทย แม้แต่ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ค่อยได้ ยิ่งภาษาเพื่อนบ้าน เราไม่เคยเห็นความสำคัญที่จะเรียนรู้ จึงอยากฝากเรื่องความสำคัญในการกระตุ้นหรือจัดการการเรียนการสอนด้านภาษาให้กับคนไทยมากกว่าที่เป็นอยู่”ว่าแล้วก็ขอล่องสู่แดนใต้ เจ๊าะแจ๊ะ กับหนุ่ม เฟรชชี่มาดเข้ม กันบ้าง สุพจน์ เกษรสิทธิ์ “ตั้ม” ปี 1 สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฟันธงว่า “ไทยเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียนยังไม่ทั่วถึง จะรับรู้เฉพาะกลุ่มคนที่ศึกษาเพื่อรับมือและเพื่อผลประโยชน์ แต่คนที่อยู่ห่างไกลยังไม่รับรู้หรือไม่เห็นความสำคัญ จึงควรประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้รู้อย่างทั่วถึงทั้งความสำคัญ ผลกระทบ ซึ่งผมคิดว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีทั้ง ผลดีคือการแลก เปลี่ยนวัฒนธรรมภาษา  และทรัพยากร ทำให้มีภูมิต้านทานต่อประเทศมหาอำนาจ แต่ผลเสียก็มีไม่น้อยคือประเทศที่มีความพร้อมน้อยก็อาจเกิดความเหลื่อมล้ำ และเกิดการเอารัดเอาเปรียบขึ้นได้ ส่วนเยาวชนไทยก็ยังมองเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เมื่อเปิดประเทศโอกาสการแย่งงานจะเกิดขึ้นสูง คนที่เรียนน้อยหรือไม่มีความรู้ทางภาษา ไม่เข้าใจวัฒนธรรม ก็อาจถูกแย่งงานได้ เราจึงต้องสร้าง ภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองในทุกด้าน”ล่องใต้แล้ว ก็ต้องขอขึ้นไป แอ่วเหนือ รับลมหนาวกันหน่อย สอดส่ายสายตา พอดีปะเข้ากับหนุ่มมหาวิทยาลัยพะเยา ปริญญา ชื่นสุวรรณ “บูล” ปี 1 นิติศาสตร์ ที่ชี้ถึงผลดีกับการเข้าสู่อาเซียนว่า “ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิชาการมากขึ้น ส่วนแง่เศรษฐกิจก็สามารถ ต่อรองผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผลกระทบก็มีเช่นกัน เพราะทำให้เกิดการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน เมื่อมีประชากรหลั่งไหลเข้าออกกันง่ายขึ้น โดยเฉพาะการดึงตัวอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสูง ทำให้ประเทศไทยอาจขาดอาจารย์ที่เก่งๆ ไปได้ สำหรับผมซึ่งจะจบปี 2558 รับอาเซียน ก็ยอมรับว่ามีความ กังวลเล็กน้อยในเรื่องภาษา โดยเฉพาะด้านนิติศาสตร์ ที่อาจจะมีการว่าความเป็นภาษาอังกฤษ เพราะ เมื่อมีการเปิดประเทศเสรีก็คงมีข้อขัดแย้งต่างๆ ตามมา ซึ่งนักกฎหมายไทยก็ต้องพัฒนาภาษาควบคู่ไป เนื่องจากต้องมีการใช้กฎหมายระดับสากล อย่างไรก็ตามผมอยากฝากรัฐบาลช่วยประชาสัมพันธ์การเปิดประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยเน้นให้ความรู้เยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไปว่า เมื่อเปิดแล้วเกิดผลดีอย่างไร เกิดผลเสียอย่างไร ควรปรับตัวอย่างไร และควรพัฒนาในเรื่องของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทั่วถึง”มาเปิดใจกับอีกหนึ่งหนุ่มมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ “จา” ปี 2 สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจ เปิดมุมมองว่า “ประเทศไทยเตรียมการ เรื่องนี้พอสมควร และคิดว่าการเปิดอาเซียนจะเกิดผลดีมากกว่า ผลเสีย เช่น การทำงานข้ามประเทศจะเสรีมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสการทำงานของคนในประเทศ ส่วนการค้าและการลงทุนก็จะเป็นตลาดรวม โดยใช้พื้นฐานของข้อกำหนดเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดกว้างเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย ส่วนผลเสียคิดว่า ด้วยความที่ทุกอย่างเสรี ดังนั้นการแข่งขันของคนในประเทศก็จะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน การทำงาน ส่วนการเตรียมพร้อมของเยาวชนไทยนั้น ทุกภาคส่วนก็เตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนไทยใส่ใจเรื่องภาษามากขึ้น ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ แต่ต้องมองถึงความสำคัญของภาษาที่ 3 เช่น ภาษาบาฮาซา (ภาษาอินโดนีเซีย) ภาษาจีนด้วยครับ”เจ๊าะแจ๊ะจอแจกับหนุ่มๆมาดเท่ที่ไอเดียเก๋ไก๋ไม่เบาแล้ว ขอเปลี่ยนแนวมาจ้อกับสาวๆ ไฉไลที่มีแนวคิดแจ๋วๆกันบ้างประเดิมกับ สาวหมวยแดนอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นันทิพร พงษ์ศิริยะกุล “ทราย” ปี 1 คณะการบัญชีและการจัดการ ขอแจมว่า “เนื่องด้วย ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงเชื่อว่าจะส่งผลดีให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่จะเข้าสู่ตลาดอาเซียน แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ การศึกษา โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ เด็กไทยยังมีพื้นฐานไม่แน่นพอ แม้แต่ทรายเอง ยอมรับว่าภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง ยิ่งเมื่อจบการศึกษาในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วก็จะกังวลมากกับการหา งานทำ การยอมรับจากองค์กรที่รับเข้าทำงาน เพราะเมื่อเข้าสู่อาเซียนชาวต่างชาติก็จะเข้ามาลงทุนในประเทศ AEC มากขึ้น ดังนั้นการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษจะต้องมีมากขึ้น ผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษรวมถึงภาษาอื่นๆ ก็จะมีความได้เปรียบ จึง อยากให้รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพัฒนาระบบการศึกษาให้มากขึ้นเน้นภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมถึงการสอนที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับอาเซียน”ขณะที่สาววิศวะ มาดกิ๊บเก๋ อภัสนันท์ เชื้อสังข์พันธุ์ “อีฟ” ปี 3 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่งเสียงใสๆ มาร่วมเม้าท์ว่า “การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการเปิดโลกกว้างขึ้น ทั้งด้านการทำงานที่สามารถทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ง่ายขึ้น การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศเรา แต่ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ตลาดแรงงานมีโอกาสเลือกผู้เข้ามาทำงานมากขึ้น หากคนไหนไม่มีคุณภาพ ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานที่มีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นอยู่ที่การเตรียมความพร้อม ซึ่งหากดูความพร้อมของเยาวชนกับการรับมือเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต้องยอมรับว่าเรายังด้อยด้านภาษาและด้านวิชาการ จึงอยากฝากให้เยาวชนได้ตระหนัก สำหรับอีฟเองก็ได้เตรียมตัวระดับหนึ่งโดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษา และใฝ่ฝันที่อยากไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์เพราะเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตด้านเทคโนโลยี จึงอยากเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะมากขึ้น”ปิดฉากก่อนส่งท้ายปี กับสาวหน้าหวาน ทิพรดา กองศักดิ์ “หมูตุ้ย” ปี 2 โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บอกว่า “ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนมากพอสมควร ซึ่ง ม.ราชภัฏนครราชสีมาก็มีการจัดกิจกรรมมากมายที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวอาเซียน นอกจากการมุ่งเน้นในเรื่องภาษาแล้ว เราต้องศึกษาถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของแต่ละประเทศเพื่อที่จะปรับตัวแล้วเข้าใจในวัฒนธรรมนั้นๆ ทำให้ส่วนตัวแล้วไม่มีความกังวลใจเรื่องการมีงานทำในอนาคต เพราะ ยิ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็เปรียบเสมือนการเปิดประตูบ้านต้อนรับนักลงทุน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การประกอบอาชีพในอนาคตของเรามีช่องทางเลือกงานได้ตรงกับความสามารถของเราได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสทองของนักศึกษาที่จบใหม่ อย่างไรก็ตามในฐานะที่หนูเป็นเยาวชนคนไทยก็อยากจะฝากให้ผู้ใหญ่มีความสามัคคีร่วมผลักดันประเทศของเราให้ก้าวหน้าและยืนอยู่บนเวทีเศรษฐกิจโลกได้อย่างสง่างาม”หลากหลายไอเดียโดนๆที่ “ทีมสกู๊ปมหาวิทยาลัย” ขอเป็นสื่อกลางส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและนำสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมตัวเข้าสู่ AEC อย่างสมศักดิ์ศรีคือ คนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นเตรียมความพร้อมด้วยตัวเอง อย่าเพียงแต่รอรับฝ่ายเดียว...!!!15 คำศัพท์ฮอต-วลีฮิต “วัยโจ๋” รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์เรื่องนี้ถึงครูอังคนาแน่ : มีที่มาจากเด็กชายชั้น ม.ต้นคนหนึ่ง ออกมาสร้างคลิประบายความในใจที่ถูกเพื่อนเขี่ยออกจากกลุ่มผ่านโลกออนไลน์ และปิดท้ายด้วยคำว่า “เรื่องนี้ถึงครูอังคนาแน่” จนกลายเป็นวลีฮิตชั่วข้ามคืนที่นำมาใช้เมื่อต้องการจะฟ้องเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่ ใจดี สปอร์ต กทม. และ สงสัยไม่ช็อต? : อีกหนึ่งวลีฮิตในโลกออนไลน์ มีที่มาจากชายวัยกลางคนรายหนึ่ง ส่งข้อความสนทนาเฟซบุ๊ก ถึงสาวหน้าตาดี ว่า แก่ ใจดี สปอร์ต กทม. พร้อมอาสาช่วยจ่ายค่าผ่อนคอนโดให้ แต่ผู้หญิงเงียบเลยบอกว่า “สงสัยไม่ช็อต” งานนี้ถูกสาวออกมาแฉ จนรู้กันทั้งเมืองเนยรักโลก : คนดังบนโลกไซเบอร์ที่มียอดฟอลโลเวอร์พุ่งกระฉูด เธอใช้ชื่อทวิตเตอร์ว่า Noey Zupermarket ชอบโพสต์ข้อความ แนวรักธรรมชาติ แบบจิกกัด และมักมีวลีเด็ดชวนขำ อย่าง มีเพื่อนถามเนยว่าชอบกินอะไร เนยบอกได้อย่างเดียวเลยค่ะ เนยไม่กินผัก เนยถือว่าเป็นการตัดไม้ทำลายป่า แต่ละข้อความจะทิ้งท้ายว่า “เนยรักโลก” จนวัยโจ๋ชอบเอามาจิกกัดคนที่รักธรรมชาติว่าเป็นเพื่อน “เนยรักโลก” เป็ดพ่นไฟ : ชาวเน็ตให้นิยามคำนี้ว่า “สุดยอด-เหนือคำบรรยาย” ต้นตอมาจากคลิปดังจากจีน ที่มีภาพฝูงเป็ดในเล้าพ่นไฟออกจากก้น และในคลิป ยังมีภาพชายคนหนึ่งจับเป็ดโยนขึ้นท้องฟ้าคล้ายจรวด ซึ่งเป็นเรื่องที่สุดยอดมากเซราะกราว : เป็นภาษากัมพูชา ความหมายคือ บ้านนอก ซึ่ง “โน้ต...อุดม แต้พานิช” นำมาเผยแพร่ใน “เดี่ยวไมโครโฟน 9” จนกลายเป็นกระแสฮิตติดปากจุงเบย : เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “จังเลย” เพราะแป้นพิมพ์ของทั้ง “สระอุ”, ”ไม้หันอากาศ” และ “ล” , “บ” อยู่ใกล้กันทำให้พิมพ์ผิดอยู่บ่อยๆ จนกลาย เป็นศัพท์วัยรุ่นในที่สุด มักใช้สื่อถึงความแอ๊บแบ๊ว เช่น น่ารักจุงเบย ปาดหน้าเค้ก : เป็นคำพูดที่นำมาใช้เวลาถูกใครทำอะไรตัดหน้า หรือแซงหน้า อย่าง “นี่เธอเมื่อคืนชั้นเล็งพ่อหนุ่มหล่อข้างโต๊ะ อยู่ดีๆก็โดนใครไม่รู้ มาปาดหน้าเค้กซะงั้น”กรรมสะสมไมล์ : เป็นการเปรียบเทียบคนที่ชอบทำบาปกรรมว่าเป็นการสะสมไมล์ เหมือนที่สายการบินให้ลูกค้าสะสมไมล์เดินทางจิ้น : เป็นคำย่อมาจากคำว่า “จินตนาการ” ความหมายที่นำมาใช้มักจะค่อนไปในทางชู้สาว อย่าง ฉันเห็นแมนกับต้นจับมือกัน เห็นแล้วจิ้นไปไกลเลยฟิน : มาจากคำว่า “ฟินาเล่” หมายถึงการจบแบบสมบูรณ์ ซึ่งส่วนมากมักใช้กับความรู้สึก “สุดยอด, ดีใจสุดๆ” อย่าง “แหม! ได้คุยกับหนุ่มที่แอบปลื้ม มานาน รู้สึกฟินสุดๆ”ปลวก : เป็นคำที่ใช้เรียกพวกที่ชอบเรียกร้องความสนใจ หรือสร้างซีนให้ตัวเอง รวมไปถึงพวกที่ชอบจิกกัดเหน็บแนมคนอื่นไปทั่ว เหมือนกับปลวกกาก : ความหมายคือของเหลือ หรือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งวัยรุ่นนำมาเป็นคำที่ใช้ดูถูกคนที่ทำตัวไม่มีประโยชน์ หรืองี่เง่าทำอะไรที่ไม่ได้เรื่องเวิ่นเว้อ : อาการพร่ำเพ้อพรรณนาที่น่ารำคาญ ซึ่งมักใช้กับคนอกหักที่ไม่หลุดพ้นความเศร้าซะทีกินตับ : มีที่มาจากเพลง “กินตับ” ของ “เท่ง เถิดเทิง” ซึ่งบรรดาขาโจ๋เอาไปพูดตาม เช่น “หน้าตาแบบนี้น่าพาไปกินตับ” โดยมีความหมาย สื่อถึงการชักชวนไปมีเพศสัมพันธ์จัดเต็ม, จัดหนัก : เป็นคำที่ใช้พูดในสถานการณ์ที่ต้องการทำอะไรแบบเต็มที่ อย่าง “ปีใหม่นี้จัดเต็มมาเลยนะ”.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive