Sunday, June 13, 2010

ลูกซึมๆ เซื่องๆ เงียบ ปลีกตัวสัญญาณอันตราย!!พ่อแม่พึงระวัง!

ลูกซึมๆ เซื่องๆ เงียบ ปลีกตัวสัญญาณอันตราย!!พ่อแม่พึงระวัง!



คมชัดลึก :การก่อเหตุเผาห้องสมุดโรงเรียนของนักเรียนชั้น ม.5 ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ สะท้อนได้อย่างหนึ่งว่า พฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอกของวัยรุ่นเป็นเพียงส่วนน้อยที่บ่งบอกถึงความรู้สึกนึกคิด แต่ในความเป็นจริงยังมี สิ่งในใจ ที่ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาอีกมาก และพร้อมที่ระเบิดออกมา หากมีสิ่งกระตุ้นเร้า






 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจัยหลัก 4 ข้อ ที่ทำให้วัยรุ่น ก่อเหตุ ได้แก่ 1.ตัวเด็ก ที่อาจจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต หรือสุขภาพกาย โดยสมองได้รับการกระทบกระเทือน ทำให้การจัดการทางจิตเสียไป 2.สภาพแวดล้อม เช่น การผิดหวังจากความรัก ซึ่งต้องยอมรับว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มมีความต้องการในด้านนี้ หรือการเรียนที่ตั้งความหวังสูงเกินไป เมื่อผิดหวังก็เกิดความเสียใจมาก
 3.ครอบครัว อาจได้รับการถ่ายทอดความรุนแรงจากการพบเห็นพ่อแม่ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกันและกัน หรือพ่อแม่ป่วยด้วยโรคทางจิต เช่น อารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวลอาจมีส่วนถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ส่งถึงลูกแต่ไม่ 100% และ 4.สังคม ซึ่งยอมรับว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และไม่มีการจัดการความคิดว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ รวมทั้งการรับรู้ความรุนแรงผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะเกมและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง ทำให้เด็กแยกจินตนาการออกจากความจริงไม่ได้ หรือแยกได้ก็ต่อเมื่อซึมซับความรุนแรงฝังเป็นนิสัยแล้ว
 การเปลี่ยนพฤติกรรมจนนำไปสู่การก่อความรุนแรง นพ.ทวีศิลป์ บอกว่า เป็นเพียงปลายทาง ก่อนที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมออกมาภายนอก จะมีกระบวนการเกิดขึ้นภายในตัวเด็ก 3 ขั้นตอน คือ ความคิด อารมณ์และพฤติกรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องจับสัญญาณที่ส่งมาจากลูกได้ตั้งแต่ในขั้นตอนที่เกิดการเปลี่ยนของความคิดและอารมณ์ เพื่อยับยั้งไม่ให้แสดงพฤติกรรมรุนแรง
 "สัญญาณสำคัญที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจและใส่ใจอย่างยิ่งหากพบเห็นสิ่งเหล่านี้ในตัวบุตรหลาน ได้แก่ มีความคิดแปลกๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น จากขยันเรียนเปลี่ยนเป็นเบื่อเรียน สดใสร่าเริง กลับซึมๆ เซื่องๆ พูดหรือเขียนข้อความที่แปลกๆ เกิดการควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้จากที่เคยควบคุมได้ ซึ่งสิ่งนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย โดยหากจับสัญญาณของลูกได้ก็จะมีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยเหลือเขา เพราะการเปลี่ยนขั้นตอนจากความคิดสู่อารมณ์และกลายเป็นพฤติกรรมใช้เวลานานนับสัปดาห์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
 หากสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อบุตรหลานและรู้ขั้นตอนด้านจิตใจ การให้ความช่วยเหลือก็เหมือนกับการช่วยคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด ซึ่งจะต้องใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวเพื่อให้ไข้ลด วัยรุ่นที่เสี่ยงจะก่อความรุนแรงเท่ากับมี อุณหภูมิทางจิตใจสูง จำเป็นต้องให้ผู้ที่มีจิตนิ่งและเย็นกว่าเข้าไปช่วยเหลือด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น ลูบหัว พูดคุย ถามไถ่ปัญหาด้วยความห่วงใยเพื่อให้เขาระบายออกมา จะช่วยลดความเครียดและความกดดันในใจได้มาก ทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่อาจจะแย่กลายเป็นดีขึ้น ทางกลับกันหากไม่ได้มีการ ปฐมพยาบาลจิตใจ ปล่อยปละละเลยก็จะนำสู่การก่อเหตุรุนแรง
 “พ่อแม่ที่รู้ตัวว่าทักษะการพูดไม่ดี พูดแล้วลูกจะเกิดปฏิกิริยาในด้านลบ ควรใช้ภาษากาย จับเข่าคุย หรือนั่งอยู่ใกล้ๆ บอกลูกว่าพ่อแม่อยากอยู่กับลูกด้วย ถ้ามีอะไรอยากพูดพ่อแม่พร้อมจะฟัง ให้ลูกได้พูดระบายความเครียด ที่สำคัญเมื่อรับรู้ปัญหา อย่าพูดใส่กลับลูกทันที พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่ผู้พูดที่ดี ซึ่งมีตัวเลขระบุว่าคนไข้ทางจิตมีอาการดีขึ้นกว่า 50-60% เพียงแค่ได้ระบายและมีคนรับฟัง” นพ.ทวีศิลป์ แนะนำ
 สำหรับตัวเด็กเอง หากเห็นพฤติกรรมเพื่อนใช้ความรุนแรง เช่น ทุบโต๊ะ ตะคอกเพื่อนแล้วตนเองเริ่มมีความรู้สึกอยากที่จะระบายความเครียดด้วยวิธีเช่นนั้น จะต้องกลับมาสำรวจและรู้จักอารมณ์ตนเอง ถามตัวเองว่าทำแล้วเกิดผลอะไรขึ้น จากนั้นพยายามควบคุมอารมณ์ให้อยู่จุดที่เหมาะสมและระบายออกทางที่ถูกต้อง เช่น ออกกำลังกาย
 นพ.ทวีศิลป์ แนะนำทิ้งท้ายว่า นักเรียนที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ เป็นเรื่องปกติที่การเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อจิตใจ สร้างความเครียด แต่เด็กส่วนใหญ่จะค่อยๆ ปรับตัวก้าวผ่านไปได้เอง เว้นเพียงคนที่มีจิตใจอ่อนไหวง่ายอาจจะมีการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งภาวการณ์ปรับตัวต่อสังคมใหม่จะใช้เวลาราว 3 เดือน หากพ้นระยะแล้วเด็กมีอาการล่องลอย ไม่อยากไปโรงเรียน ผู้ปกครองควรต้องใส่ใจหาสาเหตุ
 0 พวงชมพู ประเสริฐ 0 รายงาน








ข่าวที่เกี่ยวข้อง"มาร์ค"ระดมนักวิจัย28องค์กรร่วมแผนปรองดอง "นักจิตวิทยาคลินิก"แก้ปมเด็กอัจฉริยะวงสัมมนาสิทธิหลังไฟมอดจี้รัฐต้องเร่งทำความจริงร.ร.มหิดลฯไม่เอาผิดนักเรียนมือเผาโรงเรียน พระเทพฯพระราชทานตำราเรียนวิทย์ร.ร.มหิดลฯ

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive