Sunday, February 17, 2013

คนไทยรับไม่ได้ข่าวโหด จวกลูกทุ่งแต่งโป๊ทำลายวัฒนธรรม

คนไทยรับไม่ได้ข่าวโหด จวกลูกทุ่งแต่งโป๊ทำลายวัฒนธรรม
เอแบคโพลล์ เผยคนส่วนใหญ่ 74% คิดว่าสื่อมีส่วนชี้นำทางการเมือง ระบุในรอบ 30 วันที่ผ่านมาเห็นข่าวฆาตกรรม สังหารโหดในทีวีโดยเฉพาะช่วงพักผ่อน และมีเด็กเยาวชนร่วมดูด้วยซึ่งต่างมีอาการตกใจ ซัดสายการบินเผยแพร่ภาพเซ็กซี่ไม่เหมาะสมทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ยี้นักร้องลูกทุ่งนุ่งน้อยห่มน้อยทำลายวัฒนธรรมไทย...เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2556 น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของการนำเสนอข่าวช่วงเวลาเด่น และสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ต่อความรู้สึกของเด็กและเยาวชน และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,205 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-16 ก.พ.2556 ที่ผ่านมา มีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่ หรือร้อยละ 74.0 คิดว่าสื่อในปัจจุบันมีส่วนในการชี้นำทางการเมือง มีเพียงร้อยละ 26.0 คิดว่าไม่ชี้นำ เมื่อเปรียบเทียบสื่อดั้งเดิม และสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบันพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52.8 ระบุทีวีเป็นสื่อดั้งเดิมในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด รองลงมาคือ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ และวิทยุตามลำดับ ส่วนสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด หรือร้อยละ 21.7 ได้แก่ เฟซบุ๊ก รองลงมา ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด เว็บไซต์  อีเมล์ และไลน์ ตามลำดับอย่างไรก็ตามพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 เคยพบเห็นข่าวฆาตกรรม การสังหารโหด ผ่านรายการโทรทัศน์ ข่าวทีวีช่วงเวลาเด่นในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และกิจกรรมที่กำลังทำขณะดูข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดผ่านข่าวทีวี ช่วงเวลาเด่น อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 44.3 ระบุพักผ่อน อันดับสอง ได้แก่ ร้อยละ 31.8 ระบุทานอาหาร และอันดับสามหรือร้อยละ 30.3 ได้แก่ ทำงาน ตามลำดับ โดยกลุ่มตัวอย่างระบุมีกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนครึ่งต่อครึ่ง หรือร้อยละ 50.5 ที่กำลังอยู่ด้วยกัน ขณะดูข่าวฆาตกรรมการสังหารโหดของผู้คนในสังคม ผ่านข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และจากการสังเกต พบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับชมข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดของผู้คนในสังคมอยู่ด้วยนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 มีอาการตกใจ รองลงมาร้อยละ 14.5 ฝังใจกับข่าวนั้นๆ ร้อยละ 13.4 ร้องไห้ ส่วนอาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นคือ มีการใช้คำพูดรุนแรง และมีพฤติกรรมที่รุนแรงตามไปด้วย เป็นต้นนอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสาม หรือร้อยละ 61.4 เห็นด้วยว่าสื่อมวลชนควรช่วยลดการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพการสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม” ในรายการข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 85.6 ระบุว่ามีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจากการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพข่าวสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม”เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมของสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ของสายการบินพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 78.1 ระบุไม่เหมาะสม ซึ่งร้อยละ 83.2 คิดว่าสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ทำให้เสียภาพลักษณ์ของสายการบินและประเทศไทย ยิ่งไปกว่านี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.7 ยังระบุอีกว่ากลุ่มนางแบบของสายการบินควรแต่งชุดไทยมายืนหน้าเครื่องบินแทนการแต่งชุดเซ็กซี่ จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงไทยดูดีในสายตาชาวต่างชาติส่วนกรณีมิวสิกวิดีโอลูกทุ่งร่วมสมัย นุ่งน้อยห่มน้อย พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 70.8 คิดว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย โดยร้อยละ 78.8 มีความคิดเห็นต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรออกมาจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ และภาพลักษณ์ของคนไทยโดยส่วนรวมอีกด้วยน.ส.ปุณฑรีก์ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสื่อมีความน่าเป็นห่วงต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเด็กและเยาวชน และผลสำรวจครั้งนี้ค้นพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้ได้ว่า ภาพข่าวฆาตกรรม การสังหารที่โหดร้าย และความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ที่ถูกนำเสนอออกมาจากภาพข่าวของสื่อมวลชน มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ อยู่หน้าจอทีวี ดังนั้น สื่อมวลชนน่าจะพิจารณารูปแบบการนำเสนอภาพข่าวที่จะช่วยลดทอนผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ส่วนการนำเสนอสื่อภาพธุรกิจเซ็กซี่ของผู้หญิงและผู้ชายไทยจนอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายของภาพลักษณ์ของประเทศชาติและคนไทย จึงเสนอให้ผู้ใหญ่ในสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐออกมาช่วยกันดูแลสังคมไทย ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้ตระหนักว่า ความอยู่รอดของชุมชน บริษัท องค์กรด้วยผลกำไรเป็นเรื่องสำคัญ แต่ประเทศชาติต้องมาก่อน หรือว่าในเวลานี้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยยอมรับการโป๊เปลือยเซ็กซี่ได้นิดหน่อย ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ส่วนภาพลักษณ์ของประเทศชาติและประชาชนไม่เกี่ยวกับธุรกิจและผลประโยชน์ของตน

No comments:

Post a Comment

Blog Archive