Wednesday, February 6, 2013

เดินเท้าเขาหลวง สู่เมืองหลวงต้านยา

เดินเท้าเขาหลวง สู่เมืองหลวงต้านยา
               วันที่ 9 ก.พ.นี้ คณะเดินเท้าจาก “เขาหลวงถึงกรุงเทพฯเมืองหลวง” ระยะทาง 800 กิโลเมตร นำโดยเฉลิม  กาญจนพิทักษ์  วัย 51 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเก้ากอ หมู่ 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช และชาวบ้านกว่า 40 ชีวิต จะถึงเป้าหมายทำเนียบรัฐบาล พวกเขามีตั้งใจว่า จะขอเข้าพบ "ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข้อมูลปัญหายาเสพติดและ เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ เพิ่มมาตรการเอาจริงกับการแก้ปัญหา ยาเสพติด ในทุกมิติอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นสร้างเครือข่ายต่อต้านยาเสพติดทั่วประเทศทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ เพื่อขจัดสิ้นยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดินไทย                ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ผู้ใหญ่เฉลิม และชาวบ้าน กว่า 40 ชีวิต ตัวแทนชาวบ้านตำบลทอนหงส์ทั้ง 9 หมู่บ้าน ประกอบด้วยทั้ง เด็ก ผู้หญิง คนแก่ พระ และ คนพิการ อายุน้อยสุดเป็นเด็กหญิงวัย 8 ขวบ อาวุโสสุดอายุ 75 ปี พวกเขาออกเดินทางหมู่บ้านเก้ากอ หมู่ 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช  ฝ่าความร้อน ความหนาว ผ่าน 9 จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  ราชบุรี   สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร  บอกเล่าเรื่องราวปัญหายาเสพติด รูปแบบ วิธีการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด                ผู้ใหญ่เฉลิมเป็น 1 ใน 22 ที่ได้รับรางวัล “ข้าราชการไทยใจสีขาว” ที่มีความพยายามแก้ไข ปัญหายาเสพติด หรือการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด ประกาศตนเป็นศัตรู กับผู้ค้า และผู้เสพยาเสพติดมาตลอดเวลา  15 ปี ริเริ่ม “หมู่บ้านประชาธิปไตย ต้านภัยยาเสพติด”ให้ทุกคนในสังคม ประเทศชาติ หันมาให้ความสำคัญและร่วมต่อสู้เอาชนะปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ทุกจังหวัดที่เดินเท่าผ่าน ผู้ใหญ่เฉลิม จะล้อมวงคุยกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และเยาวชน ในแต่ละพื้นที่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวปัญหายาเสพติด รูปแบบ วิธีการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดที่เขาเคยทำที่หมู่บ้าน                ด้วยความหวังว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างที่ดีเพื่อลูกหลานเยาวชนของพวกเขา เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกหลานเวลานี้ ติดยา และกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 90 เปอร์เซ็นแล้ว ความเหนื่อยยากในครั้งนี้ ไม่ได้มากมายอะไร ถ้าเทียบกับ 'ผล' ที่หวังว่าจะได้ นั่นคือ การได้ลูกหลานคืนมาสักจำนวนหนึ่ง และถ้าเกิดปาฏิหาริย์ หรือว่ามีอะไรดีๆ ก็น่าจะเกิดกระแสพลังชุมชน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงขึ้นไป นั่นคือ ทางภาครัฐได้มองเห็นปัญหายาเสพติดว่า ถึงจุดวิกฤติแล้วที่ต้องแก้ไขด้วยมิติใหม่ๆในการแก้ไขปัญหาขจัดยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย                ผู้ใหญ่เฉลิม บอกว่า ตลอดทางเจอพี่น้อง แลกเปลี่ยนปัญหากัน ระบายความในใจก็เป็นแรงส่งว่า ถ้าเผื่อเราทำได้ เผื่อภาครัฐทำจริงจัง อานิสงค์จะได้เผื่อแผ่ถึงเขาด้วย เพราะเขาเองก็สุดจะทนทานแล้ว ถ้ามีโอกาสเราอยากบอกทั้งประเทศว่า ลุกขึ้นมาๆ ลุกขึ้นมาจัดการทั้งพ่อค้ายาบ้า และข้าราชการที่เข้าด้วยช่วยเหลือกับพ่อค้ายาบ้า เราปล่อยไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราแทบไม่มีลูกหลานเราเหลือ ทุกเวทีมีพี่น้องมาร่วมปรับทุกข์ บอกตรงกันว่า ปัญหาใหญ่คือ เราก็สูญเสียลูกหลานเหมือนกัน ถึงเวลาที่พี่น้องต้องรวมตัวต่อสู้เพื่อเอาลูกหลานของเรากลับมา                ทุกวันเหงื่อไหลโทรมกาย เท้าระบมเป็นแผลจากการเดินเกือบ แต่เมื่อถึงเวลาล้อมวงคุย ผู้ใหญ่เฉลิม บอกเล่าประสบการณ์การต้านยาเสพติดที่ผ่านมาให้แต่ละเครือข่ายฟังโดยไม่เหน็ดเหนื่อยบางอำเภอจัดคณะเยาวชนร่วมเดิน บางเทศบาลมีนายกเทศมนตรีออกมาต้อนรับด้วยตนเอง ครั้งหนึ่งรถยนต์ขนเสบียงที่เสียกลางทาง ก็มีผู้ใหญ่ใจดีที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สละรถให้ใช้จนกว่าเสร็จสิ้นภารกิจค่อยนำกลับมาคืน รวมถึงคุณป้าคุณย่าคุณยายทั้งหลาย ก็ควักเงินให้เพื่อให้นำไปซื้อน้ำอาหาร ทำให้คณะเดินเท้ามีกำลังใจขึ้นมาก                "เจี้ยบ-ประภาพร  ปิยะพิสุทธิศักดิ์"  อดีตบัณฑิตม.รามคำแหง วัย 41ปี แม่เลี้ยงเดี่ยวลูก 3 ทิ้งรายได้ขายไก่ทอดวันละ 20 กิโลและข้าวเหนียววันละ 10 กิโลพาลูกชาย อัจฉพัฒน์ วัย 14  อัจฉรียา วัย 11 อัจฉราพร วัย 8 ปี ร่วมเดินเท้าในครั้งนี้อย่างไม่กังวลกับการเรียนของเด็กๆนัก เพราะการเรียนแบบโฮมสคูลนั้นเน้นการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียนและเน้นทักษะชีวิต ให้เป็นคนดีของสังคม และเลี้ยงตัวเองได้ ที่สำคัญต้องการสร้างสังคมที่ปลอดยาเสพติดให้กับลูกๆในอนาคต เพราะทุกวันนี้เยาวชนกว่า 80% ติดยาหากว่าการเดินเท้าขจัดยาเสพติดครั้งนี้ได้ผล หลายครอบครัวคงได้ลูกหลานกลับมาสู่ชายคารั้วบ้านอีกครั้ง                ขณะที่ "ลุงนับ  สพานทอง" วัย 75 ปี ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินแม้แต่น้อย เพราะเป็นนักวิ่งมาราทอน ได้เหรียญรางวัลมาหลายเวที ประกอบกับเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ชอบช่วยงานสังคมอยู่แล้ว และเห็นภัยของเยาวชนที่ติดยามานักต่อนัก จึงไม่ลังเลที่จะร่วมขบวนการเดินเท้าขจัดยาเสพติดในครั้งนี้                ส่วน "โสภณ  มีมาก" วัย  52ปี ทั้งๆที่ร่างกายไม่สมบูรณ์เพราะประสบอุบัติเหตุ แต่หาได้เป็นภาระในการเดินเท้าครั้งนี้ไม่ เพราะเห็นหลานๆติดยาแล้วเสียอนาคต อยากให้นายกรัฐมนตรีช่วยขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดิน แม้ร่างกายไม่เป็นใจ ทว่า "โสภณ" หาได้ยอมแพ้ ผู้ใหญ่บ้านหัวใจสิงห์อย่าง พษิน บุบผัน วัย 50 สมบัติ สุวรรณคต วัย  58 และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอย่าง จด ใจห้าว วัย 62  และ ภูเมฆ ลักษณะปิยะ วัย 36 อย่างใดไม่                "เห็นหลานๆ เยาวชน ในหมู่บ้าน ติดยา แล้วทนไม่ไหว เอาด้วย ไม่เป็นไร ร่างกายไม่เต็มร้อย แต่ใจเราสู้ไม่ถอย เอาด้วยกัน อยากเจอนายกรัฐมนตรี อยากบอกว่า ยาเสพติดมันเป็นภัยมหันต์อย่างไร อยากให้รัฐบาลมาช่วยแก้เรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ก่อนที่เราจะสูญเสียลูกหลานให้กับยาเสพติดไปทั้งประเทศ" โสภณ กล่าว                 ผู้ใหญ่เฉลิม อธิบายว่า "เราเหมือนหัวเมืองเล็กๆ ที่รักษาเมืองอยู่แต่หัวเมืองเดียว ไม่มีการช่วยเหลือจากเมืองหลวง ไม่มีการให้ปืนใหญ่ เสบียง หรือกำลังพลเพิ่มเติม เราต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว และในที่สุดเราก็ต้องเดินเท้าสู่เมืองหลวง เพื่อขอการสนับสนุนจากเมืองหลวงว่า ถึงเวลาไปจัดตั้งให้หัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ไกลโพ้น หรือไม่ไกลเท่าไหร่ให้ลุกขึ้นสู้ มาจัดการตนเอง เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรของภาครัฐ และปลุกกระแสของชุมชนว่า มันต้องสู้แล้ว ณ วันนี้ ถ้าช้าไปอีกปีหนึ่ง เราคงไม่เหลือลูกหลานให้เราได้สู้แล้ว                ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องให้ผู้นำประเทศเข้ามาแก้ไข อย่างเร่งด่วน สร้างความศรัทธาเชื่อมั่นให้กับข้าราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังในการแก้ไขอย่างเข้มงวด เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ไขการแพร่ระบาดของยาเสพติดเพียงใด ทว่าผู้ค้าก็จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ คิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อหา ช่องการทางหลบเลี่ยงมาตรการของรัฐอยู่ตลอดเวลา  ทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่รู้จักจบสิ้น                ที่สำคัญจากข้อมูลการจับกุม  10 คดี เมื่อปีที่แล้ว 5 คดี มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องและ 3 คดีเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยอีก 2 เป็นกระทรวงอื่นๆที่เหลือเป็นภาคเอกชนแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวกับการค้ายาครึ่งต่อหนึ่ง ที่คือสิ่งที่อันตรายมากที่นายกรัฐมนตรีต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน  พวกเราตั้งใจว่า อยากจะขอเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี เพื่อบอกกล่าวปัญหายาเสพติดว่า ทุกจังหวัดที่ผ่านมาร้อยละ 80-90 เยาวชนลูกหลานเราติดยาเสพติดด้วยกันทั้งสิ้น แต่ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะได้มีโอกาสเข้าพบนำเสนอข้อมูลหรือไม่ เพราะเท่าที่มีการประสานขอข้อเข้าพบยังไม่มีการตอบรับจากนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด                การเดินเท้าครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบง่าย มีเพียงรถยนต์ 3 คัน รถตำรวจนำทาง (สีแดง-ขาว) รถตู้ (ของตำรวจ) ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ได้ถูกรถสิบล้อเฉี่ยวชนเสียหายไปแล้ว และ รถกระบะขนเสบียง มีค่าใช้จ่ายแต่ละวันประมาณ 4 พันบาท "รวมค่าน้ำมันรถด้วยแล้วตกวันละหมื่นกว่าบาท อาศัยเงินสนับสนุน และเงินบริจาค จากบัญชีจึงพอไปได้ระดับ แต่เวลานี้บัญชี 'กองทุนต้านยาเสพติดบ้านเก้ากอ' (ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศาลากลาง นครศรีธรรมราช บัญชีประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 389-0-10488-6) ยังต้องการแรงสนับสนุนงบประมาณอีกมาก                  ผู้ใหญ่เฉลิม บอกว่า ทำอย่างไรถึงจะช่วยบอกนายกให้พวกเขาได้เข้าพบเพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านทาง มหันตภัยของยาเสพติด เพื่อนำเสนอให้ นายกรัฐมนตรี มีข้อมูลไปกำหนดแนวทางจัดการคนของมหาดไทยเพื่อเรียกศรัทธาของหน่วยงานรัฐคืนมา ปลุกเร้าพลังชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับยาเสพติด ปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ความเด็ดขาดขึ้น ถ้าได้พบกับนายกฯ จะกลับไปตั้ง "เครือข่ายต้านยาเสพติดนครศรีธรรมราชให้เป็นรูปธรรมต่อไป                ได้แต่หวังว่าการเดินเท้าของชาวบ้านทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ที่ล้วนแต่มีประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำจากยาเสพติดทั้งสิ้นในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากรัฐบาล  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive