Sunday, January 13, 2013

แนะทำวิจัยร่วมกันเพื่อก้าวทันอาเซียน

แนะทำวิจัยร่วมกันเพื่อก้าวทันอาเซียน
                           ในอีก 2 ปีข้างหน้า ปี 2558 ที่จะมาถึง ประเทศไทยและเพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศ จะก้าวสู่การเป็น "อาเซียนหนึ่งเดียว" กันแล้ว ทำให้ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมเพื่อจะเข้าสู่อาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะบรรดาสถาบันการศึกษาที่จะเป็นเบ้าหลอมบัณฑิตและเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ต่างเตรียมพร้อมเพื่อจะให้บัณฑิตของตนเองที่จบออกไปมีคุณภาพที่สุด                            ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) แม้เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น "ไกลปืนเที่ยง" แต่จะว่าไปแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีจำนวนนักศึกษามากไม่แพ้สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ แต่ละปีมีบัณฑิตที่ผลิตและส่งออกไปสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นคน และที่นี่ก็ได้เตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่อาเซียนมากไม่แพ้สถาบันอื่น ทั้งเรื่องการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรอาเซียนศึกษาที่มีห้องเรียนอาเซียนให้นักศึกษาจากทุกประเทศในภูมิภาคมานั่งเรียนเรื่องราวเดียวกัน ครูผู้สอนคนเดียวกัน รวมไปถึงการประเมินคุณภาพการเรียนรู้ด้วยการสอบภาษาอังกฤษก่อนจะจบออกเป็นบัณฑิตด้วย                            ไม่เพียงเท่านั้น "ศุภชัย สมัปปิโต" อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คนหนุ่มไฟแรงที่เหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกไม่มากนัก มองว่า การจะพร้อมเข้าสู่อาเซียนได้ไม่ใช่แค่พูดภาษาอังกฤษได้ หรือการเรียนภาษาอาเซียนเท่านั้น แต่การพร้อมนั่นหมายถึง การรู้เขารู้เราอย่างแท้จริงด้วยการทำงานวิจัยร่วมกัน                            "ในอนาคตอาเซียนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าในอาเซียนเรื่องการโอนย้าย การถ่ายเทแรงงานจากประเทศใดประเทศหนึ่งมองว่าจะเป็นจริงในบางอาชีพ แต่ไม่ใช่ทุกอาชีพ ประเทศไทยอาจจะขาดแคลนฝีมือแรงงานขั้นต่ำหรือแรงงานฝีมือไม่มีปริญญา ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของการศึกษาในประเทศไทยที่ไม่มีคนเรียนอาชีวะ แต่หันไปเรียนแต่สายปริญญา จบปริญญาไปก็ไม่รู้จะไปทำอะไร อันนี้ก็คือจุดอ่อนของการบริหารจัดการของประเทศไทย ขณะเดียวกันทางฝ่ายอาชีวะผลิตแรงงานที่มีฝีมือในการทำงานเป็น แต่อาชีวะก็มีจุดอ่อนตรงไม่มีครู ไม่มีครุภัณฑ์" อธิการบดี มมส.บอกถึงการก้าวสู่อาเซียน ในทัศนะของเขา                            ศุภชัย ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ในมุมมองการเคลื่อนย้ายแรงงาน อาเซียนในอนาคตในบางสาขาอาชีพอาจจะมีปัญหาอุปสรรค เช่น อาชีพที่ต้องใช้ภาษา สังเกตว่า แม้แต่โรงแรมที่อยู่รอบตัวเราเป็นโรงแรมเล็กๆ แต่รีเซฟชั่นที่เป็นพนักงานต้อนรับด้านหน้า ยังต้องใช้แรงงานจากเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ เพราะคนไทยทำไม่ได้ มีปัญหาเรื่องภาษา คนไทยต้องไปทำอย่างอื่น อย่างเป็นคนดูแลห้อง พนักงานเสิร์ฟ ซึ่งระดับแรงงานก็ต่ำลงไป อันนี้คือจุดอ่อนเราต้องเสริมเรื่องภาษาอังกฤษ แต่ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด                            "ทางตะวันออกกลางเอง เขาให้เงินเดือนหนึ่งแสนสำหรับพยาบาลที่จะไปดูแลคนของเขา แต่ปัญหาคือ เราเองผลิตพยาบาลออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะในประเทศไทยเราเองพยาบาลก็ไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นเปิดอาเซียนก็มีบางอาชีพเท่านั้นที่จะไปสู่อาเซียนได้ หวังว่าอาเซียนก็เป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้น แต่ว่าเป้าหมายจริงๆ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามต้องการคือ ยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับของสากล                            ซึ่งตอนนี้วิธีการประเมินของเราก็คือ เรากำลังอยู่ในช่วงของการให้องค์กรระดับนานาชาติ TF มาประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัย คือการประเมินพบว่า ยังไม่ดีมีจุดอ่อนในหลายๆ เรื่องจุดอ่อนแรกก็คือ เรายังไม่มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาสอน สองเรายังไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในอาเซียนหรือในเอเชียมาจ้างนิสิตของเราไปทำงาน ซึ่งถ้าจะยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับเราต้องทำในส่วนนี้ก่อน" ศุภชัย บอก                            ส่วนการรองรับของมหาวิทยาลัยนั้น ศุภชัย บอกว่า มหาวิทยาลัยมีการเปิดห้องเรียนอาเซียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะดึงนักศึกษาของอาเซียนมาเรียน แต่มันก็เป็นจุดอ่อนมากพอสมควร เพราะคนที่มาจากต่างประเทศจะต้องมาเรียนร่วมกันภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดอาจทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนลดลง จริงๆ แล้วการเข้าสู่อาเซียนเป็นเรื่องของประสบการณ์ เพราะว่าในเวลานี้คนที่อยากเรียนประเทศไทยมีน้อย เพื่อนบ้านเราเองจะมีสักกี่คนที่อยากมาเรียนในเมืองไทย หากเขาจะมาก็คือจะต้องมาแบบมีข้อแลกเปลี่ยน คือเราให้ทุน เราช่วยเหลือ แต่หากเขามีทางเลือก การเข้ามาเรียนในไทยก็เป็นทางเลือกสุดท้าย                            “ความจริงแล้ว ที่จะทำให้อาเซียนสัมฤทธิ์ผลได้คือ เรื่องของการทำวิจัยร่วมกัน จะได้รู้เขารู้เรามีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เพราะการที่รู้เขารู้เรามันอาจจะทำให้เราและเขาอยู่ร่วมกันได้ และเราต้องปรับทัศนคติในเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องของความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรื่องเหตุผล เพราะว่ายุคสมัยนี้เป็นสังคมที่ไม่มีใครยอมใคร ถึงเขาเป็นประเทศเล็กๆ ถ้าเราลดเรื่องทิฐิตรงนี้ความสัมพันธ์เรื่องอื่นมันก็จะดีขึ้น การทำมาค้าขาย การร่วมมือทางเศรษฐกิจจะดี การไปมาหาสู่ก็จะง่ายขึ้น นั่นคือการเข้าสู่อาเซียนอย่างแท้จริง” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าว     --------------------- ('ศุภชัย สมัปปิโต' แนะทำวิจัยร่วมกันเพื่อก้าวทันอาเซียน : ปัญญาพร สายทอง ... เรื่อง / เสาวนีย์ วิชิต ... ภาพ)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive