Monday, January 14, 2013

แรงงานปรับตัวกลับถิ่นเกิด

แรงงานปรับตัวกลับถิ่นเกิด
               หลังจากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 การปรับตัวครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าจะปรับตัวอย่างไร และสามารถผ่านพ้นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือไม่ สุวัฒชัย อิษฎ์สกุลวงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เดย์ เทรดดิ้ง จำกัด กิจการนำเข้าสินค้าด้านเคมีอาหาร และยางขนาดเอสเอ็มอี มีลูกจ้าง 7 คน ย่านบางขุนเทียน กทม. กล่าวว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ เพราะจ่ายค่าจ้างประมาณวันละ 500-600 บาทอยู่แล้ว โดยงานบางอย่างจะจ้างเอาท์ซอร์สทำ เช่น การขนส่งสินค้า จะได้ไม่ต้องไปลงทุนซื้อรถยนต์ หรือจ้างคนเพิ่ม                แต่ที่อยากสะท้อนปัญหาไปถึงรัฐบาลคือ เรื่องค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ที่หากเกิดความเสี่ยงหรือวิกฤติอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่จะลดต้นทุนคือเลิกจ้างหรือลดคนงาน เพราะทำได้ง่ายที่สุด แต่ตอนนี้หลายกิจการใน กทม.และปริมณฑล กำลังประสบปัญหาขาดคนงาน เพราะลูกจ้างลาออกแล้วย้ายไปสมัครงานที่ต่างจังหวัด เนื่องจากได้ค่าจ้างวันละ 350 บาท แต่ถ้ากลับไปทำงาน ตจว.บ้านเกิด ได้ค่าจ้าง 300 บาท แถมค่าครองชีพถูกกว่าใน กทม.มาก                "หากมีธุรกิจที่ไปไม่ไหว คิดว่ามันเป็นเพราะตัวธุรกิจของเขาเองที่ไปไม่ไหวจริงๆ มากกว่า นอกจากนี้ก็เป็นพวกกิจการสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และพวกกิจการต่อเนื่องประมงทะเล ซึ่งใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะสิ่งทอ และตัดเย็บที่ลูกค้าจากต่างประเทศมีทางเลือกมากมายทั้งในกัมพูชา เวียดนาม"                 ด้าน คงศักดิ์ ธรานิศร กรรมการผู้จัดการโรงแรมพะเยานอร์ทเทิร์นเลค และนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.พะเยา /รองประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ผู้ประกอบการในพะเยาต่างพยายามประคองตัวเองให้ผ่านพ้นปัญหานี้ไปให้ได้ โดยไม่ขึ้นราคาสินค้าและบริการ หากไม่ไหวจริงๆ ก็จะต้องเจรจากับลูกจ้าง เพราะพะเยาเป็นจังหวัดเล็กๆ ปริมาณงานของลูกจ้างในแต่ละวันไม่มากนัก เช่น กิจการโรงแรมทำงานเฉลี่ยวันละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น หากไม่มีลูกค้าก็พักผ่อนไป แต่ถ้าลูกค้าเยอะก็ได้เงินเพิ่มพิเศษ หากใครรับไม่ได้ก็ให้สมัครใจลาออก และไม่มีการรับคนงานเพิ่ม                "หลังการปรับค่าจ้าง 300 บาท อาจมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ ประกอบกับมีธุรกิจโรงแรมใหม่ๆ ผุดตัวขึ้นในพะเยาอีกหลายแห่ง ส่วนแบ่งการตลาดก็ต้องถูกแบ่งออกไป ลูกจ้างเองก็ต้องมีปริมาณงานเพิ่มขึ้น เพราะนายจ้างจะไม่รับคนงานเพิ่ม ที่สำคัญคือ ต้องมีทักษะเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับค่าจ้างที่ได้รับ แต่อยากฝากถึงรัฐบาลว่า ตอนนี้ค่าไฟแพงมาก เมื่อปีสองปีก่อนจ่ายค่าไฟเดือนละ 6-7 หมื่นบาท แต่ตอนนี้ปรับขึ้นมาเป็นเดือนละประมาณ 1 แสนบาท ทั้งที่การใช้ไฟเท่าเดิม นับเป็นต้นทุนการผลิตที่น่าเป็นห่วงมาก" คงศักดิ์กล่าว                 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน "เผดิมชัย สะสมทรัพย์" กลับมองว่า เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ขอให้ผ่านไตรมาสแรกของปีนี้ไปก่อน โดยอ้างข้อมูลกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ว่า สถานประกอบการที่เลิกจ้างในช่วงปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นนั้น มีสาเหตุจากประสบปัญหาขาดทุนสะสมมานาน และยอดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลงมากกว่า                ล่าสุดได้เชิญผู้บริหารทั้ง 5 หน่วยงานของกระทรวงแรงงานมาหารือเพื่อกำชับให้เฝ้าระวังและประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง รวมทั้งกำหนดแนวทางช่วยเหลือแรงงานให้สอดรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และให้ทุกหน่วยงานรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นมายังกระทรวงแรงงานเป็นระยะ ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาแล้ว 11 มาตรการ และกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอรัฐบาลให้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติม โดยเน้นมาตรการภาษี เช่น การปรับลดภาษีหักเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 ของเงินค่าจ้าง                 "เท่าที่ได้พูดคุยกัน พบว่า สถานประกอบการขนาดใหญ่ร้อยละ 80 กังวลเรื่องค่าวัตถุดิบ และยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะลดลง มากกว่าเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง" นายเผดิมชัย กล่าว                 นาทีนี้ ทุกฝ่ายคงจะต้องประเมินสถานการณ์ ผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในต้นปีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเหรียญมีสองด้าน การปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นวันละ 300 บาททั่วประเทศก็เช่นกัน  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive