Friday, November 16, 2012

วิถีอนุรักษ์ชาวนาไทย ลงแขกเกี่ยวข้าว ประหยัด สร้างความสามัคคี

วิถีอนุรักษ์ชาวนาไทย ลงแขกเกี่ยวข้าว ประหยัด สร้างความสามัคคี
ชาวนาสกลนคร ยังคงอนุรักษ์ประเพณี ลงแขกนาวาน หวังลดค่าใช้จ่ายฤดูเก็บเกี่ยว เผยหากใช้เครื่องเสียเงินมากกว่าหลายเท่า แต่การลงแขกนาวานเพียงแค่เลี้ยงข้าว อาหารกลางวัน-อาหารเย็น และยังเป็นการสร้างความสามัคคี พึ่งพากันในยามวิกฤติแล้งแบบนี้...หากผ่านไปตามท้องไร่ท้องนา ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องยอมรับกันว่า เห็นแล้วเหนื่อยใจแทนเกษตรกรจริงๆ เงินก้อนที่เก็บหอมรอมริบมาเป็นปี จากการขายผลผลิตจากข้าวในยุ้งฉาง เพื่อนำเงินมาลงทุนทำนาปี ในปีการผลิต 2555/56 หวังที่จะมีรายได้มาจุนเจือใช้จ่ายในครอบครัว ส่งเสียบุตรหลานได้เล่าเรียน ผ่อนจ่ายหนี้สินที่กู้ยืมมา แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ปีที่แล้วน้ำท่าก็อุดมสมบูรณ์เสียเหลือเกิน จนท่วมไร่นาเสียหายไปทุกพื้นที่ยังไม่พอ ปีนี้ต้องมาแล้งน้ำจนพื้นดินแตกระแหง รวงข้าวที่ตั้งท้องเรียงรายหลายแสนไร่ ต่างพากันล้มตายเพราะขาดน้ำไปหล่อเลี้ยง บางคนหมดหนทาง ต้องดิ้นรน ยอมควักกระเป๋าเพิ่มอีก เพื่อมาจ่ายค่าน้ำมันในการสูบน้ำเข้าไร่นา หรือไม่มีก็ต้องไปเช่าคนอื่นมาอีกอย่างเช่นพื้นที่นาของ นางเขียน สิมแสงมี อายุ 52 ปี อำเภอเต่างอย จ.สกลนคร ซึ่งมีพื้นที่นา 13 ไร่ ก็อาจเป็นหนึ่งคนที่โชคดี เพราะต้นข้าวในนาสามารถสุกได้ทันพร้อมเก็บเกี่ยว เกือบหนีไม่ทันความแห้งแล้งที่คืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ โดยนางเขียนบอกว่า จากรายจ่ายที่มีมากขึ้นเพราะต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าไร่นาของตน และต้องคอยดูแลจนกว่าข้าวจะสุก แม้หลายคนจะเร่งเกี่ยวข้าวเพื่อหนีแล้งด้วยการใช้เครื่องเกี่ยวข้าว แต่มองว่าต้องจ่ายเพิ่มอีก ซึ่งมีค่าบริการ 700-750 บาท ต่อไร่ ที่นา 13 ไร่ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 11,000-12,000 บาท หรือหากมีการจ้างคนมาเกี่ยวก็เฉลี่ย 250-300 บาท ต่อคนต่อวัน จึงทำให้รายจ่ายมีมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งข้าวก็ไม่ทราบว่าจะขายได้มากน้อยเพียงใดนางเขียน เล่าว่า ตนต้องหาวิธีลดรายจ่าย ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจใช้วิธีประเพณีลงแขกนาวาน ซึ่งปัจจุบัน การลงแขกนาวาน จะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1- 2 พันบาท ก็คือเจ้าของนาที่ไปไหว้วานพี่น้อง ญาติ หรือเพื่อนบ้านมาก็ไปรับไปส่งและเลี้ยงอาหารกลางวันและเย็น สำหรับนาวานในที่นาของตนได้ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านมาช่วยถึง 30 คน ทั้งชายและหญิง ต่างพากันใช้เคียวเกี่ยวข้าวอย่างขยันขันแข็ง นา 13 ไร่ จะใช้เวลาเกี่ยวเพียง 1 วันก็สามารถเกี่ยวแล้วเสร็จแล้ว หลังจากนั้นก็ไปช่วยคนอื่นๆ ในกลุ่ม อีกคนละวันหรือ 2 วัน จนกว่าจะหมด ซึ่งถือว่าเป็นการอาศัยไหว้วานกัน แสดงออกถึงความรักความสามัคคีระหว่างชาวบ้านในชุมชน โดยไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นสีใด เรามีสีเดียวคือสีชาวนา นับว่าเป็นความรักและการแบ่งปันที่คุ้มค่าการลงแขกนาวาน เป็นประเพณีที่มีมานาน สมัยโบราณแต่เดิมนั้นไม่มีเครื่องจักรทันสมัยอำนวยความสะดวก เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว หากมีนามากยิ่งใช้เวลานานในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ข้าวแห้งเกินไปและกรอบเร็ว ลำพังคนมีไม่กี่คนก็จะเก็บเกี่ยวไม่ทัน จึงเป็นที่มาของการเรียกคนจำนวนมากมาช่วยกันเก็บเกี่ยว นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยวข้าว ตนมองว่าทุกคนที่ต่างมาช่วยกันก็มาด้วยความรักใคร่สามัคคีกัน ได้พบปะพูดคุย ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน พึ่งพาและเกื้อกูลกัน หากที่นาของตนเกี่ยวหมดแล้วคนที่มีนารอเก็บเกี่ยวก็จะไหว้วานกลุ่มเดียวกันไปเกี่ยวที่นาของผู้ที่ร้องขอมา นับได้ว่าเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในวิกฤติภัยแล้งแบบนี้ อันเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประเพณีลงแขกนาวานอยู่คู่กับชาวไทยต่อไป นางเขียน กล่าว. 

No comments:

Post a Comment

Blog Archive