Wednesday, November 14, 2012

สธ.คาดอีก 8 ปีคนไทยป่วยเบาหวานเกือบ 5 ล้านราย

สธ.คาดอีก 8 ปีคนไทยป่วยเบาหวานเกือบ 5 ล้านราย
Pic_306149 รมช.สาธารณสุข คาดอีก 8 ปี คนไทยจะป่วยเป็นเบาหวานเกือบ 5 ล้านคน เสียชีวิตเฉลี่ยปีละกว่า 5 หมื่นราย แนวโน้มเด็กป่วยเพิ่มขึ้น รณรงค์ค้นหาผู้ป่วยเบาหวานหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมใช้หลัก 3 อ. 2 ส.

เมื่อ วันที่ 14 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลก และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) และจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคเบาหวานพร้อมกันทั่วโลก ในปี 2555 นี้ ได้กำหนดคำขวัญในการรณรงค์ว่า “พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” (Diabetes : protect our future) มุ่งเน้นให้ความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตและกำลังสำคัญของประเทศ รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักภัยจากโรคเบาหวาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพป้องกันการป่วย

รม ช.สาธารณสุข กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อ เป็นแล้วจะมีอาการเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด เป็นภัยเงียบ คุกคามสุขภาพและชีวิตของประชากรทั่วโลก สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2553 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานอายุ 20-79 ปี 285 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 438 ล้านคน ในปี 2573 ในจำนวนนี้ 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย ที่สำคัญคือมีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 4.4 แสนคน ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน และแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 70,000 คน มีแนวโน้มป่วยเป็นเบาหวานชนิดนี้ ซึ่งจะทำให้มีอายุสั้นลงอีก 10-20 ปี โดยพบในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 22.2 ล้านคน ใน พ.ศ.2554 พบผู้ป่วยเบาหวาน 1,581,857 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน 277,020 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด โดยมีภาวะแทรกซ้อนทางไตมากที่สุด เช่น ไตวาย ร้อยละ 25 รองลงมาคือแทรกซ้อนทางตา เช่น ตาต้อกระจก ต้อหินร้อยละ 23 คาดการณ์ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า ไทยจะพบผู้ป่วยถึง 4.7 ล้านราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 52,800 ราย แนวโน้มพบในเด็กมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เด็กไทยเผชิญความอ้วนมากขึ้น หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ต้นเหตุสำคัญ โดยส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานคือความอ้วน เนื่องจากมีการสะสมของเซลล์ไขมันในร่างกาย และสร้างสารที่มีฤทธิ์ดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยนำน้ำตาลในเลือดไปใช้สร้างกล้ามเนื้อและไขมัน และขัดขวางการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูง เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ทั้งนี้ สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ คอแห้ง กระหายน้ำ และดื่มน้ำมากผิดปกติ หิวบ่อย กินจุแต่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง ซึม และหายใจหอบเหนื่อยง่าย เด็กบางรายปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน หรือปัสสาวะทิ้งไว้มีมดตอม เป็นแผลเรื้อรัง แผลหายช้า คันตามผิวหนัง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ขอให้พบแพทย์ ส่วนโรคเบาหวานในเด็ก สามารถสังเกตได้โดยดูจากน้ำหนักตัวและรูปร่างของลูกว่าเริ่มมีภาวะอ้วน ร่วมกับมีรอยดำรอบต้นคอ ใต้รักแร้ หรือขาหนีบ ให้สงสัยว่าลูกอาจเป็นเบาหวาน ขอให้พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงผิดปกติหรือไม่

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2555-2556 กระทรวงสาธารณสุข ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขทุกพื้นที่ รณรงค์ค้นหาโรคเบาหวานในประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคน เพื่อให้ความรู้ประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นเบาหวาน และประชาชนทั่วไป หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตป้องกันไม่ให้ป่วย โดยใช้หลัก 3 อ. 2 ส. ได้แก่ อาหาร กินให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่พอเหมาะ กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น กินปลาและเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสหวานหรือเค็มมากเกินไป และอาหารจานด่วน ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว และทำให้จิตใจแจ่มใส หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุรา นอกจากนี้ควรจำกัดชั่วโมงการเล่นคอมพิวเตอร์และดูโทรทัศน์ของลูกหลานไม่ให้ เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากเด็กจะกินอาหารเพิ่มขึ้นระหว่างทำกิจกรรมเหล่านั้น

ขณะที่ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยเบาหวานขณะนี้ ร้อยละ 95 เป็นเบาหวานที่เกิดมาจากพฤติกรรมทั้งจากการกินอาหารรสหวาน อ้วน และดื่มสุรามาก ไม่ใช่จากกรรมพันธุ์ สาเหตุเกิดจากการกินอาหารไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เน้น 3 เรื่อง คือ ควบคุมอาหาร กินยาต่อเนื่อง ออกกำลังกาย และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ รวมทั้งอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณอาหารเสริมต่างๆ ว่ากินแล้วสามารถรักษาโรคให้หายได้ จนขาดนัดติดตามการรักษาของแพทย์ ซึ่งจะทำให้อาการกำเริบ เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายตามมา.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive