Monday, March 11, 2013

ห่วงช้างป่าถูกล่า หวั่นพันธุกรรมสูญ จี้รัฐแก้ พรบ.สัตว์พาหนะ

ห่วงช้างป่าถูกล่า หวั่นพันธุกรรมสูญ จี้รัฐแก้ พรบ.สัตว์พาหนะ
หมออลงกรณ์ คาด ช้างไล่ทำร้ายรถสีบรอนซ์เงิน เหตุจำฝังใจถูกทำร้าย ห่วงสถานการณ์ช้างป่าถูกล่า หวั่นหน่วยพันธุกรรมสำคัญสูญหาย ชี้หากลูกช้างป่าถูกทารุณเพื่อให้เชื่องในวัยเด็ก โตขึ้นอาจก่อเหตุฆ่าควาญช้างได้ จี้รัฐบาลแก้ พ.ร.บ.สัตวพาหนะ ทำตั๋วรูปพรรณตั้งแต่แรกเกิดป้องกันการสวมสิทธิ์...เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 56 นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ ที่ปรึกษาส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เผยกับไทยรัฐออนไลน์ กรณีช้างป่า ได้ลงมาไล่ทำร้ายรถสีบรอนซ์เงิน ในพื้นที่เขาใหญ่ว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีความจำดี หากช้างไปไล่ทำร้ายรถสีบรอนซ์สีเดียวก็แสดงว่ารถสีนี้เคยรังแกเขาก่อน เนื่องจากระบบประสาทของช้าง จะเป็นเลิศ โดยไล่ตั้งแต่งวงช้าง จะมีการดมกลิ่นที่ดี รองลงมาก็จะเป็นการได้ยิน และประสาทตาจะเป็นอันดับที่ 3 ซึ่งถ้ารถเข้ามาในพื้นที่แล้วบีบแตรไล่ เมื่อเข้ามาในระยะที่มองเห็น ช้างก็จะจำฝังในสมองเลย ส่วนสาเหตุช้างไล่ทำร้ายรถ เชื่อว่ามาจากคนที่เข้าไปรุกพื้นที่ป่า และการจัดกิจกรรมในป่าโดยเอารถ หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในป่า ในความเห็นของตนเห็นว่า การเที่ยวป่าควรไปเฉพาะบุคคล และต้องมีเจ้าหน้าที่อุทยานนำทาง ถ้าจะเข้าไปถ่ายรูปสามารถทำได้ แต่จะมีการตักเตือนว่าไม่ควรให้แสงแฟลชเข้าตาช้าง ส่วนสัตว์อื่นๆ ไม่ค่อยมีปัญหา การไปเที่ยวที่ถูกต้อง คือ คนเอาตัวเข้าไปเที่ยวป่าอย่างเดียว อย่างอื่น เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ ไม่ควรจะเข้าไปนอกจากนี้ หมออลงกรณ์ ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เคยมีกรณีช้างพาพวกมาปิดถนนเพื่อปล้นของกินด้วย ซึ่งเคยเจอในพื้นที่อ่างฤาไน โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง จะมีเส้นทางหนึ่งที่ผ่านเข้าไปในอ่างฤาไนทะลุออกไปยังจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะมีด่านของทหารพรานจะมีการเตือนรถบรรทุก ในช่วงเวลา 19.00-21.00 น. ห้ามผ่าน เพราะจะมีช้างลงมาปล้นรถ ช้างจะมากินอ้อยกับมันสำปะหลัง วิธีการคือจะมาปิดหัวท้ายของรถ เมื่อคนขับหนี ก็จะใช้งวงและงาดันรถ เมื่อรถเอียงอ้อย มันสำปะหลังก็จะหล่นมา ช้างก็ได้กินจนอิ่มเมื่อถามถึง กรณี ไซเตส (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) มีการเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการขายงาช้างถูกกฎหมาย หมออลงกรณ์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าประเทศไทย เป็นประเทศเดียวที่มีช้างอยู่ 2 สถานะ คือ ช้างป่า กับ ช้างเลี้ยง ซึ่งช้างป่า มี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 ดูแลอยู่ ส่วนช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง มี พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ 2482 ดูแล แต่ช้างในความหมายของต่างประเทศถือว่าเป็นสัตว์ป่าทั้งหมด แต่ประเทศไทยเรามีช้างเลี้ยงด้วย หากย้อนไปร้อยกว่าปี เราใช้งาช้างเลี้ยงทำประโยชน์ด้วย ซึ่งงาช้างจะงอก 5-7 ซม.ต่อปี หลังจากงอกแล้ว ควาญช้างก็จะทำพิธีตัด ตัดมาแล้วบ้างก็นำไปบูชา บ้างก็นำไปทำแหวน กำไล พระ เป็นต้นการที่จะมากำหนดให้ประเทศไทยงดค้าขายงาช้างคงทำได้ลำบาก แต่ก็มีวิธีการแก้ไขคือต้องหาทางพิสูจน์ให้ได้ว่างาช้างมาจากช้างเลี้ยง 100% ซึ่งวิธีการคือ อาจจะใช้เลเซอร์ยิงเข้าไปที่เครื่องประดับงาช้าง แล้วบอกไปเลยว่างาช้างมาจากช้างชื่ออะไร เจ้าของเป็นใคร แต่หากวิธีการดังกล่าวมีการหลบเลี่ยง เราก็สามารถตรวจดีเอ็นเอของงาช้างได้ ในเวลาเดียวกัน ต้องมีมาตรการควบคุมการล่าช้างป่าให้เข้มขึ้น ยกตัวอย่างกฎหมายปัจจุบัน แค่ปรับ 4 หมื่นบาท หรือจำคุก 4 ปี แต่ลูกช้างปัจจุบันราคาขึ้นสูงถึง 1 ล้านบาท หากถูกจับสารภาพ อาจจะถูกปรับ 2 หมื่นบาท จำคุก 2 ปี ซึ่งเป็นโทษที่เบามาก ทางที่ดีควรมีการปรับกฎหมายให้มีการลงโทษที่หนักขึ้น เช่นปรับ 1-1.5 ล้านบาท จำคุก 10 ปี เป็นต้น และต้องพยายามสาวไปถึงผู้บงการให้ได้ เพราะที่ผ่านมาที่จับได้ก็แค่ลูกน้องทั้งนั้น อีกทางหนึ่งคือเราต้องให้ความรู้กับประชาชน ไม่ให้เข้าไปล่าช้างป่าเนื่องจากเป็นสัตว์คุ้มครอง เพราะช้างสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของชาติ เป็นช้างศึกของพระมหากษัตริย์ มีบุญคุณกับประเทศไทย  ที่ปรึกษาส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ยังกล่าวถึงการสวมสิทธิ์ตั๋วรูปพรรณ ว่า การสวมสิทธิ์ช้างมันมีทุกปี ที่มีการล่ามากที่สุดคือ แถวชายแดนไทยพม่า เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน โดยจะฆ่าแม่แล้วเอาลูกมาสวมสิทธิ์ เราไปเจอมันแต่ละครั้งสภาพแทบดูไม่ได้ แล้วพวกนี้จะมีการฝึกให้เชื่องภายใน 1 เดือน ด้วยวิธีการนำช้างเข้าไปในซอง ช่องที่พอดีกับตัวลูกช้าง ใช้มีดสับหัว ตะขอเกี่ยวหู เหล็กแหลมแทงขา และให้อดอาหาร ทรมานด้วยความหิวเพื่อลงโทษมัน เพื่อให้มันยอมรับกับเจ้าของใหม่ ซึ่งการลงโทษโดยรุนแรงจนมันต้องยอม การทรมานแบบนี้ จะทำให้เชื่องในระยะหนึ่งแต่เมื่อมันโตขึ้นมาเกิน 15 ปี เป็นหนุ่มเป็นสาว ความฝังใจในความโหดร้ายของมนุษย์ที่ถูกกระทำในตอนเด็ก เมื่อถึงเวลาตกมัน หรือเห็นว่าควาญไม่สามารถบังคับได้ เช่น เมา หัวแม่เท้าที่คุมที่หัวที่คอมันไม่ปกติ มันก็จะสลัดควาญลงมาจากนั้นก็จะกระทืบซ้ำ หรือถ้าเป็นตัวผู้ ก็อาจจะใช้งาแทงจนเสียชีวิต หากช้างจะอาลาวาด ควาญช้างจะเป็นคนแรกที่ถูกกระทำ เนื่องจากความโหดร้ายที่ถูกกระทำตั้งแต่เล็กส่วนกรณีฆ่าช้างป่าแก่งกระจาน หมออลงกรณ์ กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นการฆ่าเพื่อเอาลูกช้าง ซึ่งช้างที่ถูกฆ่าเชื่อว่าน่าจะเป็นช้างพี่เลี้ยง จากที่ได้เห็นภาพคิดว่าไม่น่าจะใช่แม่ เนื่องจากช่วงตัวจะเล็กไป อาจจะเป็นพี่เลี้ยงหรือพี่สาว เมื่อยิงได้แล้ว ก็จะใช้ประทัดจุด เพื่อให้โคลงหนีไป จากนั้นก็ออกมาจับลูกช้าง ขบวนการพวกนี้เชื่อว่าจะอยู่ใน จ.เพชรบุรี หรือ ราชบุรี ซึ่งคงต้องมีการประสานให้ทหารไปตั้งด่านสกัดแถวสวนผึ้ง เพื่อไม่ให้ลูกช้างเล็ดลอดออกมา หากจับได้ควรจะมีการลงโทษให้หนัก ซึ่งในแต่ละปี มีช้างป่าถูกฆ่าเยอะ แต่ไม่เป็นข่าว ซึ่งพื้นที่ที่ถูกล่าเยอะ คือพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ เรามีลูกช้างเท่าไหร่ แม่ช้างจะถูกยิงตายเท่านั้น ซึ่งถ้ามีลูกช้างออกป่า 50 ตัว ก็จะมีแม่ช้างตายอยู่ในป่าอย่างน้อย 50 ตัวเช่นกัน โดยเฉพาะเขตกะเหรี่ยง หรือพม่า สิ่งที่อยากจะฝากไปยังรัฐบาลคือ กฎหมายในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ 2482 มันเปิดช่องโหว่ว่า ช้างเลี้ยง เมื่อเกิดมาจะทำตั๋วรูปพรรณในปีที่ 8 เพราะจาก 1-8 ปี สามารถนำช้างป่าที่เกิด 1-8 ปีมาสวมตั๋วได้แถมกฎหมายดังกล่าว กรมการปกครองเป็นผู้ดูแล ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องช้างเลย มีช้างมาก็ทำหน้าที่ไป จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้กฎหมายข้อนี้ คือ เมื่อช้างตกลูกแล้วให้ทำประวัติภายใน 30 วัน เพราะใน 30 วัน ลูกช้างจะต้องกินนมแม่ ซึ่งช้างจะไม่ยอมให้ลูกตัวอื่นมาดูดนม ซึ่งใน 1 เดือนก็ควรจะทำตั๋วรูปพรรณทันที โดยการฝังไมโครชิพลูกช้าง ตรวจดีเอ็นเอลูก พ่อแม่ ถ่ายรูปทุกมุมเพื่อทำประวัติ ถ้าทำแบบนี้ รับรองว่านำช้างป่ามาสวมไม่ได้ หากทำแบบนี้ปัญหาสวมตั๋วก็จะหมดไป นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ เผยว่า เท่าที่ใช้วิชาชีพหมอช่วยชีวิตช้างมา ทราบว่า ปี 2518 มีช้างเลี้ยงประมาณ 1,500 ไม่เกิน 2 พันเชือก ปัจจุบันมีประมาณ 3 พันเชือก โดยที่ผ่านมาได้ฝังไม่โครชิพโดยมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.สุวิทย์ ยอดมณี เป็นประธาน ท่านก็ให้สัตวแพทย์ของมูลนิธิ ทำประวัติเกือบ 4 พันเชือกแล้ว ที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากเราดูแลรักษาให้ โดยเน้นป้องกันไม่ให้เป็นโรค เช่น พยาธิภายในภายนอก เมื่อช้างสมบูรณ์เข้าวัยเจริญพันธุ์ก็จะตกลูกออกมา ในอดีตตกลูกยากมาก แต่ในช่วง 10 ปี หลังเราได้ลูกช้างปีละ 20-30 เชือก โดยจะมีการเดินทางไปทีสุรินทร์ บุรีรัมย์ ทุกปีเพื่อรักษาให้ฟรี สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดในขณะนี้ คือ ช้างป่า เนื่องจากช้างป่าเป็นหน่วยพันธุกรรมของช้าง สำคัญกว่าช้างเลี้ยงมาก ต้องรักษาให้อยู่รอดให้ได้ สำหรับ ช้างป่าในปัจจุบันของไทยคาดว่ามีไม่เกิน 2 พันตัว เพราะมีการล่าอยู่ทุกวัน เพราะบทลงโทษของช้างป่ามันเบามาก ส่วนช้างเลี้ยงเชื่อว่าเอาอยู่แล้ว เพราะหากมีอะไรเราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งตอนนี้มีลูกศิษย์ที่สอนจาก 6 มหาวิทยาลัย กระจายยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว หมออลงกรณ์ กล่าวส่วนช้างป่ากับช้างเลี้ยงต่างกันอย่างไรนั้น นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ ให้ความรู้ว่า ถ้านำช้างป่ากับช้างเลี้ยงมายืนคู่กัน เชื่อว่าดูไม่ออก แต่ถ้าคนคลุกคลีกับช้าง จะดูออก คือ ช้างป่าจะมีสรีระร่างกายสมบูรณ์ ลักษณะตัวมนกลม แข็งแรง งาสั้นหนา ปลายแหลม เพราะต้องใช้งาแทงเปลือกไม้กิน เล็บมนไม่มีงอก ส่วนช้างเลี้ยงจะเชื่อง ไม่ตื่นตัว เล็บยาว ไม่กลมมน งายาวเรื่อย ๆ แต่ไม่ค่อยสวย ส่วนวิธีแยกร้อยเปอร์เซ็นต์คือการตรวจดีเอ็นเอ เนื่องจากมีดีเอ็นเอต่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เลือด ขอแค่เมือกคลุมอุจจาระก็สามารถนำมาตรวจได้แล้ว

No comments:

Post a Comment

Blog Archive